เมื่อวันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม Mayfair Ballroom A โรงแรม เดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร นายธีระพงษ์ วงศ์วิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสัมมนาผู้นำการขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องราวร้องทุกข์ประจำหน่วยงาน (Chief Complaint Executive Officer: CCEO) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนินการเรื่องราวร้องทุกข์ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการนี้ นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นผู้แทน สคทช. เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินการเรื่องราวร้องทุกข์ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลเรื่องร้องทุกข์ภายใต้ฐานข้อมูลเดียวกัน ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการบริการประชาชนด้านการดำเนินการเรื่องราวร้องทุกข์สู่ความเป็นมาตรฐาน วันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายประเสริฐ ศิรินภาพร รองผู้อำนวยการ สคทช. เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ชุดข้อมูลตามดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดิน ภายใต้โครงการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี นายกลย์วัฒน์ สาขากร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน คณะที่ปรึกษาโครงการฯ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เครือข่ายภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่ สคทช. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องแซฟไฟร์ 1-2 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร และเข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference จำนวนรวม 200 คน

ทั้งนี้ การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ชุดข้อมูลตามดัชนีชี้วัด แนวทางการวิเคราะห์ และข้อมูลตัวชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ในมิติความยั่งยืนของการใช้ประโยชน์ที่ดิน และความยั่งยืนของทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นผลจากการประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผลจากการประชุมในวันนี้ จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงรายงานสถานการณ์และแนวโน้มความยั่งยืนด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่ได้จากการประเมินดัชนีชี้วัดฯ ให้มีความสมบูรณ์ ครบถ้วนต่อไป