วันนี้ (9 ก.ค. 2568) ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ผอ.สคทช.) มอบหมายให้นายสกุลยุช ศรุตานนท์ ผู้ช่วย ผอ.สคทช. เป็นวิทยากรร่วมเสวนาในหัวข้อ "The Space-Powered Data: Fueling a New Economic Frontier" ในงานสัมมนากลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกของประเทศไทยกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อนำเสนอโครงการพัฒนากลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกของประเทศไทยให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียหลักที่เกี่ยวข้อง (Key Stakeholders) ด้านความเป็นไปได้ในการสร้างกลุ่มดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation Satellite Constellation) โดยมี นายพีร์ ชูศรี รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีและภูมิสารสนเทศเป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อวกาศกับอนาคตของประเทศไทย” ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ สคทช. เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ ห้องประชุมสยามฮอลล์ ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ

การเสวนาหัวข้อ "The Space-Powered Data: Fueling a New Economic Frontier" มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นาวาโทภัธ โชติกะพุกกะนะ หัวหน้าแผนกดาวเทียมถ่ายภาพ ศูนย์กิจการอวกาศ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม และ ดร.จนิษฐ์ ประเสริฐบูรณะกุล บริษัท จีไอเอส จำกัด ซึ่งในการเสวนาดังกล่าว ผู้ช่วย ผอ.สคทช. ได้นำเสนอภารกิจของ สคทช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คทช. เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย

และแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ผ่านภารกิจที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ดินของประเทศ เช่น การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมมาใช้ประกอบการดำเนินงานในภารกิจต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ คทช. นำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) มาใช้ในการยกระดับกระบวนการผลิตสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) การส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ คทช. นำแอปพลิเคชัน Dragonfly มาใช้ในการวางแผนการผลิตอย่างครบวงจร และการพัฒนาระบบติดตามการใช้ประโยชน์แปลงที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ผ่านแพลตฟอร์ม SPHERE ที่อาศัยข้อมูลภูมิสารสนเทศมาใช้ในการอ่าน แปลฯ เพื่อจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตรวจสอบความเสี่ยงและภัยพิบัติในพื้นที่ และใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation: EUDR) เป็นต้น