โดย นางสาวปาริชาติ อินสว่าง
       นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
       กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
       กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ

การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยการยื่นขออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ยื่นขออนุญาตและรับการอนุญาตดังกล่าว1 ซึ่งภายหลังจากที่ได้มีการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนแล้ว คทช. ยังมีแนวทางในการขับเคลื่อนการยกระดับ ให้สหกรณ์สามารถเป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ คทช. ด้วยการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นส่งเสริมการรวมกลุ่มของชุมชนที่เข้มแข็งในลักษณะสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกรที่จะสามารถรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาชุมชนสร้างความเข้มแข็ง ให้สามารถพึ่งตนเองได้และนำไปสู่การบริหารจัดที่ดินของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้เริ่มขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้รับอนุญาตจากเดิมที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกร โดยเริ่มต้นจากการประชุมหารือเพื่อยกระดับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการยกระดับสหกรณ์เป็นผู้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) สามารถดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขแนวทางปฏิบัติของกรมป่าไม้ มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 25072 และกรมส่งเสริมสหกรณ์มีการประเมินความเข้มแข็งในการบริหารจัดการของสหกรณ์และนำแนวทางการประเมินของกรมส่งเสริมสหกรณ์มาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายของ คทช. โดยมอบหมายให้กรมป่าไม้จัดทำรายละเอียดขั้นตอนการขออนุญาต กรณีสหกรณ์เป็นผู้ขออนุญาตต่อจากผู้ว่าราชการจังหวัด และให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์ เพื่อเสนอ คทช. พิจารณาต่อไป โดยทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว ได้ดำเนินการดังนี้

  1. กรมป่าไม้ได้จัดทำระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 25653 โดยกำหนดว่า การขออนุญาตเพื่อการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ เป็นผู้ยื่นคำขอ รวมทั้งการเปลี่ยนผู้รับอนุญาต ให้ยื่นคำขอเพื่อให้จังหวัดท้องที่หรือหน่วยงานที่อธิบดีกำหนดสั่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการตรวจสภาพพื้นที่ให้ได้ข้อมูลปัจจุบัน พร้อมกับตรวจสอบการดำเนินการของผู้รับอนุญาตรายเดิมว่า ได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ แล้วให้พิจารณาและจัดทำความเห็นเสนออธิบดีเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยให้ออกหนังสืออนุญาตฉบับใหม่มีอายุเท่าที่เหลืออยู่ของหนังสืออนุญาตเดิม
  2. กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์ ดังนี้
    1. เกณฑ์มาตรฐานสหกรณ์4 จำนวน 7 ข้อ ประกอบด้วย
      1. ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์มีผลการดำเนินงานไม่ขาดทุน เว้นแต่ปีใดมีอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติจนเกิดความเสียหายต่อสมาชิก และสหกรณ์โดยรวมให้ตัดปีนั้นออก
      2. ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง ไม่มีการกระทำอันถือได้ว่าทุจริตต่อสหกรณ์
      3. ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์จัดทำงบการเงินแล้วเสร็จ และส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
      4. ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของสมาชิกทั้งหมดร่วมทำธุรกิจกับสหกรณ์
      5. ผลการบริหารจัดการสหกรณ์ ต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำเพื่อดำเนินกิจการและธุรกิจของสหกรณ์ หากไม่มีจัดจ้างต้องมีกรรมการดำเนินการ หรือสมาชิกที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำ
      6. ผลการดำเนินการในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์ต้องมีการจัดสรรกำไรสุทธิ และจ่ายทุนสวัสดิการสมาชิก หรือทุนสาธารณประโยชน์ อย่างน้อย 1 ครั้ง
      7. ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์
    2. เกณฑ์มาตรฐานกลุ่มเกษตรกร5 จำนวน 5 ข้อ ประกอบด้วย
      1. คณะกรรมการดำเนินการจัดให้มีการทำงบดุลรอบ 12 เดือน แล้วเสร็จ และจัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบได้ภายใน 150 วัน ตามกฎหมายแนวทางการพัฒนาสหกรณ์และเกษตรกรสู่มาตรฐานกรมส่งเสริมสหกรณ์
      2. ไม่มีข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับรายการข้อบกพร่องทางการเงินและบัญชีอย่างร้ายแรง
      3. มีการทำธุรกิจหรือการบริการอย่างน้อย 1 ชนิด
      4. มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายในกำหนดเวลา 150 วัน เว้นแต่มีภัยธรรมชาติจนเกิดความเสียหายต่อสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรโดยรวม
      5. มีกำไรสุทธิประจำปีและมีการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีตามกฎหมาย เว้นแต่มีภัยธรรมชาติ จนเกิดความเสียหายต่อสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรโดยรวม

ต่อมา สคทช. ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยปรับเปลี่ยนให้ผู้ขอใช้ประโยชน์การอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกร ต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้เงื่อนไขแนวทางปฏิบัติของกรมป่าไม้ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และแนวทางการประเมินความเข้มแข็งการบริหารจัดการของสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยเสนอผ่านคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) เพื่อให้ความเห็นชอบการขอเปลี่ยนผู้ขอใช้ประโยชน์ และเสนอไปยังกรมป่าไม้เพื่อดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงมีมติเห็นชอบกับหลักการปรับเปลี่ยนให้ผู้ขอใช้ประโยชน์การอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตร ที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์และปฏิบัติตามภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดการใช้ที่ดินและแนวทางปฏิบัติของกรมป่าไม้ มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และการชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยมีขั้นตอนการยกระดับสหกรณ์เป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ดังนี้

  1. กรมป่าไม้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ขออนุญาต)
  2. คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการรวมกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน
  3. กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับ คทช.จังหวัด ประเมินความเข้มแข็งของกลุ่มสหกรณ์ที่มีความพร้อมตามหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์
    1. กรณีไม่ผ่านการประเมิน จะต้องดำเนินการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและกลุ่มสหกรณ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็ง เพื่อที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และ คทช.จังหวัด จะได้ประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์ต่อไป
    2. กรณีผ่านการประเมิน จะดำเนินการดังนี้
      1. เสนอเรื่องในการประชุมคณะกรรมการสหกรณ์และการประชุมใหญ่ประจำปีของสหกรณ์
      2. คทช.จังหวัด พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับเปลี่ยนผู้ขอใช้ประโยชน์ การอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ และแจ้ง สคทช. เพื่อรายงาน คทช. ทราบต่อไป
      3. กลุ่มสหกรณ์ยื่นขอหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ในพื้นที่ คทช. ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งขอยกเลิก พร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งขอยกเลิกผู้ได้รับอนุญาตกับกรมป่าไม้
      4. กรมป่าไม้ออกหนังสืออนุญาตฉบับใหม่ให้กลุ่มสหกรณ์และจัดเก็บค่าธรรมเนียมกรมป่าไม้และกรมส่งเสริมสหกรณ์พิจารณากำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และขั้นตอนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และแจ้ง สคทช. เพื่อรายงาน คทช. ทราบต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากที่ คทช. เห็นชอบในหลักการการปรับเปลี่ยนให้ผู้ขอใช้ประโยชน์การอยู่อาศัยและทำกินในป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกร แล้ว สคทช. ได้มีการกำหนดพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนการยกระดับสหกรณ์เป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของ คทช. คือ สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ทา ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งของกลุ่มสหกรณ์และผ่านการประเมินมาตรฐานของสหกรณ์ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนดไว้ โดยหากสหกรณ์ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนให้ผู้ขอใช้ประโยชน์ การอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ดังกล่าวได้สำเร็จ ก็จะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการขยายผลการยกระดับสหกรณ์ให้กับพื้นที่อื่น ๆ ที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของ คทช. ได้ต่อไป

แผนภาพที่ 1: ขั้นตอนการยกระดับสหกรณ์เป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ในพื้นที่ดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)

อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการรวมกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ควรร่วมมือกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ และส่งเสริมการรวมกลุ่มของชุมชนในรูปแบบสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกร อย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์อันจะนำไปสู่ “การยกระดับปรับเปลี่ยน จากผู้ว่าฯ สู่ สหกรณ์ ในพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบาย คทช.” ได้อย่างแท้จริง


อ้างอิง

1 รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559

2 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนที่ 46 ก (24 พฤษภาคม 2559)

3 ระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 , ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 118 ง (26 พฤษภาคม 2565)

4 ประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดมาตรฐานสหกรณ์ (2 กุมภาพันธ์ 2564).

5 ประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดมาตรฐานกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2560 (16 ธันวาคม 2559).