โดย นายอนุวัตร จินตกสิกรรม1
       นางสาวพัทธนันท์ คล้ายกระแส2
       กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
       กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ

ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งบรรดาพรรคการเมืองต่างนำเสนอนโยบายด้านต่าง ๆ ออกมาเพื่อซื้อใจประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อหวังว่าจะได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด และได้มีโอกาสเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองของตน (Political Campaign) ให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ที่จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าในมิติต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง ซึ่งในอีกแง่หนึ่งช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งถือเป็นช่วงเวลาของการถกเถียงและปะทะสังสรรค์ทางความคิดเห็นของสาธารณะและสังคมต่อประเด็นปัญหาเชิงนโยบายที่อาจนำไปสู่การตกผลึกทางความคิดของสังคมต่อไป

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ปี พ.ศ. 2566 ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยจะได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศร่วมกัน รวมถึงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมือง และนโยบายที่ตอบโจทย์และตรงใจประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมากที่สุด โดยที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองที่เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 70 พรรค มีจำนวนผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 4,781 คน จำนวนผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 1,899 คน และมีการเสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจาก 43 พรรคการเมือง จำนวนรวม 63 คน3 โดยที่ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนจะพาผู้อ่านทุกท่านไปสำรวจนโยบายด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ออกมานำเสนอในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และเพื่อให้เห็นทิศทางและแนวโน้มต่อนัยของการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านที่ดินและทรัพยากรดินของรัฐบาลภายหลังจากการเลือกตั้งในครั้งนี้เสร็จสิ้นลง ซึ่งพรรคการเมืองสำคัญ ๆ ได้เสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินที่น่าสนใจ โดยผู้เขียนได้สรุปนโยบายจากข้อมูลที่พรรคการเมืองเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ พอสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

     พรรคการเมือง     นโยบายด้านที่ดินและทรัพยากรดิน
1. พลังประชารัฐ4
  • เร่งรัดออกเอกสารสิทธิที่ดินทุกประเภท (เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด)
  • จัดที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คนไร้ที่ทำกินกว่า 2 ล้านราย
  • ยกระดับธนาคารที่ดิน
  • ตั้งศูนย์พิสูจน์และคุ้มครองสิทธิประชาชน เพื่อชะลอการดำเนินคดีและการนิรโทษกรรมความผิดเกี่ยวกับที่ดิน
  • สังคายนากฎหมายที่ดินทั้งระบบ เพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ และคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน
2. รวมไทยสร้างชาติ5
  • ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ “One Map” เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน โดยเริ่มจาก 11 จังหวัดภาคกลาง และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
  • แก้กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินทั้งหลาย เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือมีที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของรัฐ ได้มีสิทธิครอบครองและสิทธิทำกิน
3. ประชาธิปัตย์
  • ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี เป็นมาตรการเชิงรุกที่ต่อยอดการออกโฉนดที่ดินทํากินของกรมที่ดิน ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างหลักประกันในชีวิต ความมั่นคงในอาชีพให้แก่ประชาชน และช่วยกระตุ้นการพัฒนาในภาพรวม6
  • ออกกรรมสิทธิ์ทํากินให้ผู้ทํากินในที่ดินของรัฐ เพื่อสร้างหลักประกันการประกอบอาชีพและอยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่ทํากินในที่ดินของรัฐ ใน 2 ลักษณะ ได้แก่7
    1. ประชาชนที่ทํากินในที่ดินรกร้างหรือที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ใด ๆ ของทางราชการ
    2. ที่ดินที่รัฐประกาศเขตทับซ้อนกับที่ดินของประชาชนที่ได้ใช้ทํากินมาแต่เดิม
4. เพื่อไทย8
  • ออกโฉนดให้กับประชาชน 50 ล้านไร่
  • ที่ดินที่เป็นโฉนดจะถูกใช้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน สู่สภาวะเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต
  • บูรณาการความร่วมมือเพื่อยุติความขัดแย้งและแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน
  • เร่งรัดการพิสูจน์สิทธิเพื่อให้ได้มาซึ่งโฉนดอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ด้วยการใช้หลักฐานภาพถ่ายจากดาวเทียม และ/หรือหลักฐานอื่นที่เป็นที่ยอมรับ
  • นำที่ดินที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเพิ่มผลประโยชน์ให้ประชาชนด้วยการจัดที่ดินทำกิน เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความสมดุลของระบบนิเวศ เพิ่มปริมาณและคุณภาพของพื้นที่สีเขียวให้มีความอุดมสมบูรณ์และเพียงพอต่อความปลอดภัยทางด้านภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
5. ก้าวไกล9
  • ตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิ 10,000 ล้านบาท เพื่อยุติข้อพิพาทในการออกเอกสารสิทธิให้กับเกษตรกรและประชาชน 10 ล้านไร่ ภายใน 4 ปี ผ่านการพิสูจน์สิทธิโดยเพิ่มบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ช่วยในกระบวนการพิสูจน์สิทธิให้ประชาชน
  • ยกเครื่องกฎหมายที่ดิน 7 ฉบับ เพื่อไม่ให้มีการลิดรอนสิทธิในการครอบครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินดังกล่าวมาก่อน
  • ออกโฉนด ส.ป.ก. - นิคมสหกรณ์ ปลดล็อกที่ดิน ส.ป.ก. โดยการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม รวมถึงเร่งเปลี่ยนที่ดินนิคมสหกรณ์ทั่วประเทศ เป็นเอกสารสิทธิหรือโฉนดให้เกษตรกรและประชาชน
  • ตั้งธนาคารที่ดินเพื่อสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชน ผ่านการจำนองและรับซื้อที่ดิน บริหารจัดการที่ดินส่วนเกิน และกระจายการถือครองที่ดินให้เกษตรกรรายใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ
  • เปลี่ยนระบบภาษีที่ดิน กระจายที่ดินออกจากมือนายทุน ผ่านการพัฒนาระบบภาษีที่ดินแปลงรวมและจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีรายแปลงเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยง และลดหย่อนหรือส่วนลดภาษีที่ดิน (Negative Land Tax) สำหรับพื้นที่ที่ถูกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามระยะเวลาที่ตกลงร่วมกัน
6. ไทยสร้างไทย10
  • ให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดิน ส.ป.ก. ในกรณีชราภาพได้ โดย ส.ป.ก. จะพิจารณารับซื้อที่ดินในราคาที่เป็นธรรม เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายอื่นต่อไป
  • ที่ดิน คทช. ที่ดิน ภ.บ.ท.5 ของกรมป่าไม้ ให้มีการโอนอำนาจการจัดการที่ดินมาให้ ส.ป.ก. เพื่อดำเนินการจัดสรรให้เกษตรกรทำกิน และเป็นที่อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย
  • สร้างกติกาใหม่เพื่อให้สามารถนำที่ดิน ส.ป.ก. มาใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ ควบคู่กับการปลูกป่า ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยจัดและพัฒนาที่ดินในรูปแบบนิคมเกษตรกรรม การวางผังแบ่งแปลง ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบน้ำเพื่อการเกษตร และจัดแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ
7. ประชาชาติ11
  • แก้ปัญหาที่ดินทำกิน โดยผลักดันให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างน้อย 20 ไร่ ทำเกษตรผสมผสานที่มีความยั่งยืน
  • ปฏิรูปที่ดินผ่านกฎหมายภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
8. ชาติไทยพัฒนา
  • ส่งเสริมแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่ดินและน้ำสำหรับการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด12
  • สนับสนุนให้มีการจัดการพัฒนาและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรม13
9. เสรีรวมไทย14
  • การคุ้มครองป้องกัน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ อากาศ แร่ธาตุ ทะเล และชายฝั่งบนพื้นฐานของความสมดุลของธรรมชาติแบบยั่งยืน
  • ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยการส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
10. พลังธรรมใหม่15
  • โฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงภายใน 4 ปี
  • จัดการแผนที่ให้เป็นระบบเดียวกันทุกหน่วยงาน (One Map)
  • กันพื้นที่ป่าให้ชัดเจน และขับเคลื่อนการดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชนที่ทำกินอยู่นอกเขตป่าให้แล้วเสร็จ เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดินราชพัสดุ เป็นต้น

ที่ผ่านมา คทช. ได้กำหนดให้มีนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) เพื่อเป็นกรอบนโยบายและทิศทางหลักในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศอย่างบูรณาการ ในระยะ 15 ปี ประกอบด้วยประเด็นนโยบายหลัก 4 ด้าน ได้แก่ (1) การสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ (2) การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด (3) การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และ (4) การบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ16

จากการสำรวจนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่เกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดินข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัญหาด้านที่ดินและทรัพยากรดินต่างได้รับความสนใจจากพรรคการเมืองต่าง ๆ และถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ โดยที่หลายนโยบายของหลายพรรคการเมืองมีความคล้ายคลึงกันในเชิงประเด็น แต่อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง ซึ่งแต่ละพรรคอาจมีมุมมองและแนวคิดที่เป็นจุดเน้นในการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เราพอได้เห็นทิศทางและแนวโน้มของนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่หลายพรรคการเมือง ต่างออกมานำเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกสะสมมาเป็นระยะเวลายาวนานผ่านนโยบายต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเพื่อให้ประชาชนและสาธารณะได้มีโอกาสศึกษา ขบคิด ถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อเป็นบทสนทนาของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย และเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจออกไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งของประชาชนในคูหาเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้


อ้างอิง

1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

3 มติชนออนไลน์. (2566). กกต.สรุปยอดสมัคร ส.ส.แบ่งเขต 4,781 คน จาก 70 พรรค ปาร์ตี้ลิสต์เฉียด 2 พัน. สืบค้นจากhttps://www.matichon.co.th/election66/news_3916908 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566.

4 เว็บไซต์พรรคพลังประชารัฐ. (2566). “พล.อ.ประวิตร” เปิดนโยบายบริหารจัดการที่ดินทำกิน-น้ำ ลั่น “มีลุง ไม่มีแล้ง” ยกเป็นวาระแห่งชาติเพื่อปชช.กินดีอยู่ดี วันศุกร์ 10 กุมภาพันธ์ 2566. สืบค้นจาก https://pprp.or.th/%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%AD-A%E0%B8%B2%E0%B8%A2/. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

5 พีพีทีวี ออนไลน์. (2566). เลือกตั้ง 2566: พรรครวมไทยสร้างชาติ ดัน 13 นโยบาย ออกคลิปรัวผลงาน “บิ๊กตู่” วันอังคาร 21 มีนาคม 2566. สืบค้นจาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/192911 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

6 เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์. (2566). นโยบาย 10 ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี. สืบค้นจาก https://www.democrat.or.th/policy-10/ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

7 เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์. (2566). นโยบาย 11 ออกกรรมสิทธิ์ทํากิน ให้ผู้ทํากินในที่ดินของรัฐ. สืบค้นจาก https://www.democrat.or.th/policy-11/ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

8 เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย. (2566). นโยบายจัดทำกรรมสิทธิ์ที่ดิน. สืบค้นจาก https://ptp.or.th/%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%a2%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%ab84%e0%b8%97%e0%b8%a2/land-ownership เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566.

9 เว็บไซต์พรรคก้าวไกล. (2566). ชุดนโยบายเกษตรไทยก้าวหน้า: กระดุม 5 เม็ด เปลี่ยนชีวิตเกษตรกรไทย. สืบค้นจาก https://www.moveforwardparty.org/article/policies/17234/ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566.

10 เว็บไซต์พรรคไทยสร้างไทย. (2566). นโยบายเกี่ยวกับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร. สืบค้นจาก https://thaisangthai.org/party-policy/%e0%b8%97%e0% b3%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%99- %b8%b2%e0%b8%a8%e0%b8%b1/ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566.

11 เว็บไซต์พรรคประชาชาติ. (2566). เชียร์สุดใจ! “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ขึ้นเวทีประชันวิสัยทัศน์ หนุนยกระดับรายได้ แก้ปัญหายากจน-ที่ดินทำกิน-ความเหลื่อมล้ำ วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566. สืบค้นจาก https://prachachat.org/press-release-2632301/ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

12 เว็บไซต์พรรคชาติไทยพัฒนา. (2566). นโยบายด้านการเกษตร. สืบค้นจาก https://www.chartthaipattana.or.th/policy/agriculture เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

13 เว็บไซต์พรรคชาติไทยพัฒนา. (2566). นโยบายด้านการเกษตร. สืบค้นจาก https://www.chartthaipattana.or.th/policy/natural เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

14 เว็บไซต์พรรคเสรีรวมไทย. (2566). นโยบายด้านพลังงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สืบค้นจาก https://sereeruamthai.or.th/?page_id=232https://sereeruamthai.or.th/?page_id=232 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

15 เว็บไซต์พีพีทีวี ออนไลน์ (2566). เปิดสูตรพิสดาร “พลังธรรมใหม่” ฝันใหญ่ เลือกตั้ง 2566 โกย 1.5 ล้านเสียง วันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566. สืบค้นจากhttps://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/192462 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

16 นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 32 ง (10 กุมภาพันธ์ 2566).