การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ (Watershed classification, WSC) เป็นการจำแนกชั้นความสำคัญของพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเพื่อกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินของแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาความขัดแย้งด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ลุ่มน้ำอยู่เป็นประจำ ตัวอย่างเช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารกับการทำเหมืองแร่ ซึ่งหลายพื้นที่หลายแห่งภายในลุ่มน้ำมักจะมีศักยภาพของแร่สูง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของราษฎรก็คือ ปัญหาการใช้ที่ดินในลักษณะอื่น ทั้งที่เกิดจากส่วนราชการและเอกชน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีความขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น เพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและเกิดข้อขัดแย้งน้อยที่สุดจึงจำเป็นต้องมีการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนลงไปว่าพื้นที่ใดเหมาะสมกับกิจกรรมใดมากที่สุด และพื้นที่ใดสามารถทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง ซึ่งจะช่วยให้การบริหารทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ลุ่มน้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายมากที่สุด
เดิมกรมป่าไม้ได้เสนอให้มีการกำหนดชั้นและอาณาเขตของป่าต้นน้ำลำธารบริเวณลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำวังต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามเสนอ ต่อมากรมทรัพยากรธรณีได้ขอให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เนื่องจากในข้อเสนอของกรมป่าไม้ที่ว่าในเขตป่าต้นน้ำลำธารชั้นที่ 1 ห้ามมีการใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาด แต่พื้นที่ในเขตดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพของแร่สูง คณะรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ปัจจุบัน คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.) เพื่อพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว คณะกรรมการชุดนี้ได้พิจารณาและเห็นควรให้มีการปรับปรุงการกำหนดชั้นและอาณาเขตป่าต้นน้ำลำธารใหม่เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกันพิจารณาปรับปรุง แต่ก็ยังหาข้อยุติของความขัดแย้งไม่ได้
เพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้งดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวข้างต้นมาพิจารณา และได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำขึ้น (ศ.ดร. เกษม จันทร์แก้ว เป็นประธานคณะกรรมการ) พร้อมกับเสนอขออนุมัติโครงการศึกษาเพื่อกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศไทยต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2525 สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงได้สรรหาหน่วยงานที่เป็นกลางเพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ศึกษาวิจัยแบ่งชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่สำคัญๆ และกำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละชั้นคุณภาพลุ่มน้ำให้สอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาวะแวดล้อม ซึ่งสำนักงานฯ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำเป็นที่ปรึกษาและกำหนดให้ดำเนินการในลุ่มน้ำสำคัญๆ ของประเทศ คือ ลุ่มน้ำภาคเหนือ (ปิง วัง ยม น่าน) ระหว่าง พ.ศ. 2526-2528 ลุ่มน้ำมูล-ชี ระหว่าง พ.ศ. 2529-2531 ลุ่มน้ำภาคใต้ ระหว่าง พ.ศ. 2530-2531 ลุ่มน้ำภาคตะวันออก พ.ศ. 2532 ลุ่มน้ำภาคตะวันตก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก พ.ศ. 2533 และ ลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนอื่นๆ (นอกจาก ปิง-วัง-ยม-น่าน และมูล-ชี คือ ลุ่มน้ำชายแดนทั้งหมด) พ.ศ. 2534
หลักเกณฑ์ในการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ประกอบด้วยปัจจัยทางกายภาพซึ่งมีผลต่อกระบวนการทางอุทกวิทยาและมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก รวม 6 ปัจจัย คือ
- สภาพภูมิประเทศ
- ระดับความลาดชัน
- ความสูงจากระดับน้ำทะเล
- ลักษณะทางธรณีวิทยา
- ลักษณะปฐพีวิทยา
- สภาพป่าไม้ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน (ซึ่งพิจารณาในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 โดยกำหนดให้พื้นที่ที่มีป่าปกคลุมสมบูรณ์ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายดาวเทียมปี พ.ศ. 2525 เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และพื้นที่ที่ไม่มีป่าปกคลุมเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี) โดยจะผนวกเอาปัจจัยทั้งหกเป็นรูปของสมการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งได้มีการทดสอบและยอมรับจากการประชุมผู้แทนของหน่วยงานต่างๆ แล้ว
พื้นที่ทั้งหมดของลุ่มน้ำจะถูกจำแนกออกเป็น 5 ระดับชั้นคุณภาพตามลำดับความสำคัญในการควบคุมระบบนิเวศของลุ่มน้ำ ซึ่งแต่ละชั้นคุณภาพมีคำนิยามและลักษณะดังต่อไปนี้
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หมายถึงพื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ เนื่องจากมีลักษณะและสมบัติที่อาจมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง โดยมีค่าดัชนีชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่คำนาณได้จากสมการน้อยกว่า 1:50 ไม่ว่าพื้นที่จะมีป่าหรือไม่มีป่าปกคลุมก็ตาม
ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับชั้นย่อยคือ- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ หมายถึง พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ที่ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ปรากฏอยู่ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งจำเป็นต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี หมายถึง พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งสภาพป่าส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงไปเพื่อพัฒนาการใช้ที่ดินรูปแบบอื่นก่อนหน้าปี พ.ศ. 2525 และการใช้ที่ดินหรือการพัฒนารูปแบบต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว จะต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีค่าดัชนีชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่คำนาณได้จากสมการอยู่ระหว่าง 1.5 ถึงน้อยกว่า 2.21 โดยลักษณะทั่วไปมีคุณภาพเหมาะต่อการเป็นต้นน้ำลำธารในระดับรองลงมา และสามารถใช้ประโยชน์เพื่อกิจการที่สำคัญได้ เช่น การทำเหมืองแร่ เป็นต้น
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีค่าดัชนีชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่คำนาณได้จากสมการอยู่ระหว่าง 2.21 ถึง 3.20 และพื้นที่โดยทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งกิจการทำไม้ เหมืองแร่ และปลูกพืชกสิกรรมประเภทไม้ยืนต้น
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีค่าดัชนีชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่คำนาณได้จากสมการอยู่ระหว่าง 3.20 ถึง 3.99 และสภาพป่าได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นที่ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการพืชไร่เป็นส่วนมาก
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีค่าดัชนีชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่คำนาณได้จากสมการมากกว่า 3.99 ขึ้นไป ลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบหรือที่ลุ่ม หรือเนินลาดเอียงเล็กน้อย และส่วนใหญ่ป่าไม้ได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อประโยชน์ด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาและกิจการอื่นๆ ไปแล้ว
การจำแนกหรือกำหนดลักษณะของชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ และมาตรการปฏิบัติ
ผลการศึกษาได้จำแนกชั้นคุณภาพลุ่มน้ำทั้ง 5 ระดับชั้นลงบนแผนที่ภูมิประเทศ ขนาดมาตราส่วน 1:50,000 โดยในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดจำแนกออกเป็น เขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ หมายถึง ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ จะไม่ให้มีการใช้พื้นที่ในทุกกรณี ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารอย่างแท้จริง เนื่องจากพื้นที่ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ ต้องสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ และเขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี หมายถึงลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ที่สภาพป่าส่วนใหญ่ได้ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาการใช้ที่ดินในรูปแบบอื่นไปแล้วก่อนปี 2525 การใช้ที่ดินหรือการพัฒนาที่ดินจะต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ อนึ่ง สำหรับลุ่มน้ำภาคกลาง ภาคตะวันตก ป่าสัก และลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนอื่นๆ (ลุ่มน้ำชายแดน) ได้มีการจำแนกชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เป็น 1 เอเอ็ม (1AM) หรือลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ที่มีศักยภาพด้านแร่ และลุ่มน้ำชั้น 1 บี เป็น 1 บีเอ็ม (1BM) หรือลุ่มน้ำชั้น 1 บี ที่มีศักยภาพด้านแร่ เนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2534 (เกี่ยวกับพื้นที่ศักยภาพแร่) ออกมาบังคับใช้
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ ซึ่งมีองค์ประกอบรวมกันดังนี้
- เป็นพื้นที่สูงหรือบริเวณที่อยู่ตอนบนของลุ่มน้ำ ที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้เป็นต้นน้ำลำธารเนื่องจากมีลักษณะและสมบัติที่อาจมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง
- ส่วนมากเป็นเทือกเขาที่เต็มไปด้วยหุบเขา หน้าผา ยอดเขาแหลม และ/หรือร่องน้ำจำนวนมาก ซึ่งปกคลุมหรือเคยปกคลุมด้วยป่าดงดิบ ป่าดิบเขา หรือป่าสนเขา และ/หรือป่าชนิดอื่นๆ
- ส่วนใหญ่มีความลาดชันโดยเฉลี่ยของพื้นที่ตั้งแต่ 60% ขึ้นไป
- มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ประกอบด้วยหินซึ่งให้กำเนิดดินที่ง่ายต่อการพังทลาย
มาตรการการใช้ที่ดินในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 นั้น จำแนกออกเป็น 2 ชั้นคือ 1 เอ และ 1 บี ดังนี้
มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ
- ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารอย่างแท้จริง
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบำรุงรักษาป่าธรรมชาติที่มีอยู่ และระงับการอนุญาตทำไม้โดยเด็ดขาด และให้ดำเนินการป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างเข้มงวดกวดขัน
การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินใดๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ ภายหลังปี พ.ศ. 2525 กำหนดให้ใช้มาตรการดังนี้ - บริเวณพื้นที่ใดที่ได้กำหนดเป็นลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ไว้แล้ว หากภายหลังการสำรวจพบว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่าหรือป่าเสื่อมโทรม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกป่าทดแทนต่อไป
- บริเวณใดที่มีราษฎรอาศัยอยู่ดั้งเดิมอย่างเป็นการถาวรแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดที่ทำกินให้เป็นการถาวร เพื่อมิให้มีการโยกย้ายและทำลายป่าให้ขยายขอบเขตออกไปอีก
มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี
- พื้นที่ใดที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อประกอบการกสิกรรมรูปแบบต่างๆ ไปแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาดำเนินการกำหนดการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
- บริเวณใดที่ได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบต่างๆ ไปแล้ว หากจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใด จะต้องดำเนินการวางแผนการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการรักษาดุลยภาพของลักษณะทางนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ธรรมชาติ
- บริเวณพื้นที่ใดที่ไม่เหมาะสมต่อการเกษตรหรือการพัฒนาในรูปแบบอื่นๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพต้นน้ำลำธารอย่างรีบด่วน
- ในกรณีที่ต้องมีการก่อสร้างถนนผ่านเข้าไปในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นนี้ หรือการทำเหมืองแร่ หน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการจะต้องดำเนินการควบคุมการชะล้างพังทลายของดินที่เกิดขึ้นในบริเวณโครงการเนื่องจากการปฏิบัติงานในระหว่างดำเนินการและภายหลังเสร็จสิ้นโครงการ มิให้ลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดอันตรายแก่สัตว์น้ำและไม่สามารถนำมาอุปโภคบริโภคได้
- ในกรณีที่ส่วนราชการใดมีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในโครงการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติแล้ว ให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการดังกล่าวนำโครงการนั้นเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเป็นต้นน้ำลำธารในระดับรองลงมา และสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อกิจการที่สำคัญ เช่น การทำไม้ และเหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งมีองค์ประกอบร่วมกันดังนี้คือ
- เป็นพื้นที่ภูเขาบนพื้นที่สูงที่มีลักษณะสันเขามนและความกว้างไม่มากนัก หรือเป็นบริเวณลาดเขาที่มีแนวความลาดเทยาวปานกลาง มีร่องน้ำค่อนข้างกว้าง มีป่าดงดิบที่ถูกแผ้วถางหรือป่าปกคลุมมีสภาพเสื่อมโทรม แต่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และ/หรือป่าเต็งรัง
- มีความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 35 - 50%
- มีลักษณะทางธรณีที่ประกอบด้วยหิน ซึ่งให้กำเนิดดินที่ง่ายต่อการชะล้างพังทลาย
- มีดินตื้นถึงลึกปานกลาง ความอุดมสมบูรณ์ต่ำถึงปานกลางและมีสมรรถนะการพังทลายสูง
มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2
- การใช้พื้นที่ทำกิจการป่าไม้และเหมืองแร่ ควรอนุญาตให้ได้ แต่จะต้องมีการควบคุมวิธีการปฏิบัติในการใช้ที่ดินเพื่อการนั้นๆ อย่างเข้มงวดกวดขันและเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่ต้นน้ำลำธารและพื้นที่ตอนล่างอย่างเด็ดขาด
- การใช้ที่ดินเพื่อกิจการทางด้านเกษตรกรรม ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกป่าในบริเวณที่ถูกทำลายโดยรีบด่วน
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งกิจการทำไม้ เหมืองแร่ และเพื่อปลูกพืชกสิกรรมประเภทไม้ยืนต้น โดยมีองค์ประกอบร่วมกันดังนี้
- ส่วนมากมีลักษณะเป็นที่ดินที่ประกอบด้วยที่ราบขั้นบันไดมีเนินสลับหรือบริเวณที่ลาดเทตีนเขา หรือบริเวณของร่องน้ำที่ปรับสภาพแล้ว ป่าส่วนใหญ่ที่ขึ้นปกคลุมหรือเคยขึ้นปกคลุมเป็นป่าเบญจพรรณ หรือป่าเต็งรัง หรือป่าดงดิบ
- ส่วนใหญ่มีความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 - 35%
- มีลักษณะทางธรณีที่ประกอบด้วยหิน หรือตะกอนที่ทับถมจากแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งให้กำเนิดดินที่ค่อนข้างยากต่อการถูกชะล้างพังทลาย
- มีดินลึกปานกลาง ถึงลึก ความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง แต่มีสมรรถนะการพังทลายปานกลาง
มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3
- การใช้พื้นที่ทำกิจการป่าไม้ เหมืองแร่ กสิกรรม หรือกิจการอื่นๆ อนุญาตให้ได้ แต่ต้องมีการควบคุมวิธีการปฏบัติอย่างเข้มงวดให้เป็นไปตามหลักการอนุรักษ์ดินและน้ำ
- การใช้ที่ดินเพื่อการกสิกรรมในลุ่มน้ำชั้นนี้ควรต้องปฏิบัติดังนี้
- บริเวณที่มีดินลึกมากกว่า 50 ซ.ม. ให้ใช้เป็นบริเวณที่ปลูกไม้ผล ไ้เศรษฐกิจ และพืชเศรษฐกิจยืนต้นอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องใช้มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ถูกต้อง
- บริเวณที่มีดินลึกน้อยกว่า 50 ซ.ม. ที่ไม่เหมาะสมกับกิจการทางการกสิกรรม สมควรใช้เป็นพื้นที่ป่าไม้หรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่สภาพป่าได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นที่ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการพืชไร่เป็นส่วนมาก โดยทั่วไปมีองค์ประกอบร่วมกันดังนี้
- เป็นเนินเขาหรือที่ราบขั้นบันได หรือช่วงต่อระหว่างที่ราบลุ่มกับเชิงเขา หรือพื้นที่สองฝั่งลำน้ำที่ยังอยู่บนที่ดิน ซึ่งป่าที่ปกคลุมหรือที่เคยปกคลุมอยู่เป็นป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง และ/หรือป่าละเมาะ
- มีความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 6 - 25%
- มีลักษณะทางธรณีที่ประกอบด้วยหินหรือตะกอน ซึ่งให้กำเนิดดินที่ยากต่อการถูกชะล้างพังทลาย
- ดินลึกถึงค่อนข้างลึก ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง และมีสมรรถนะการพังทลายต่ำ
มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4
- การใช้พื้นที่ทำเหมืองแร่ ป่าไม้ และกิจการอื่นๆ ให้อนุญาตได้ตามปกติโดยให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการโดยเคร่งครัด
- การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในลุ่มน้ำชั้นนี้ควรต้องปฏิบัติดังนี้
- บริเวณที่มีความลาดชัน 18 - 25% และดินลึกน้อยกว่า 50 ซ.ม. สมควรใช้เป็นพื้นที่ป่าไม้และไม้ผล โดยมีการวางแผนการใช้ที่ดินตามมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ
- บริเวณที่มีความลาดชันระหว่าง 6 - 18% ควรจะใช้เพาะปลูกพืชไร่ นา โดยมีมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งเป็นที่ราบหรือที่ลุ่ม หรือเนินลาดเอียงเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ป่าได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาและกิจการอื่นๆ โดยทั่วไปมีองค์ประกอบร่วมกันดังนี
- เป็นที่ราบ ที่ลุ่ม หรือเนินลาดเอียงเล็กน้อยสองฝั่งลำน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่กลายสภาพเป็นทุ่งนา แต่บางพื้นที่อาจยังเป็นป่าละเมาะ ป่าแสม ป่าผลัดใบ ป่าดงดิบ หรือป่าเต็งรัง
- ส่วนใหญ่มีความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยต่ำกว่า 6%
- ลักษณะทางธรณีเป็นพวกดินตะกอน
- ดินลึกถึงลึกมาก ความอุดมสมบูรณ์สูง และมีความคงทนต่อการถูกชะล้างพังทลาย
มาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5
- การใช้พื้นที่ทำกิจการเหมืองแร่ การเกษตร ป่าไม้ และกิจการอื่นๆ ให้อนุญาตได้ตามปกติ
- การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในลุ่มน้ำชั้นนี้จะต้องปฏิบัติดังนี้
- บริเวณที่มีดินลึกน้อยกว่า 50 ซ.ม. ควรใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ ป่าเอกชน ไม้ผล และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
- บริเวณที่มีดินลึกมากกว่า 50 ซ.ม. ควรใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวและพืชไร่ และต้องระมัดระวังดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ
- ในกรณีที่จะใช้ที่ดินในชั้นคุณภาพนี้เพื่อการอุตสาหกรรม ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการเกษตรสูง
การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำมีความสัมพันธ์กับการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (โซนนิ่งป่าไม้) อย่างไร?
ในการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 และ 17 มีนาคม 2535 ได้นำผลจากการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำไปใช้เป็นกรอบในการจำแนกพื้นที่ โดยพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ถูกกำหนดเป็นเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) และพื้นที่ส่วนใหญ่ของลุ่มน้ำชั้นที่ 1 (ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี) จะซ้อนทับกับเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บางส่วนซ้อนทับกับป่าเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติม
สำหรับมาตรการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) กำหนดให้ "การขอใช้ประโยชน์เพื่อกิจการใดๆ ให้ดำเนินการตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบที่เกี่ยวข้อง"
ส่วนมาตรการสำหรับพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติม ที่สำคัญได้แก่
- ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในโครงการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ดำเนินการดังนี้
- ให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป
- ในการใช้เส้นทางให้พิจารณาเฉพาะเส้นทางที่มีอยู่เดิมตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หากเป็นการขยายเส้นทางหรือสร้างทางใหม่ ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป
- ในกรณีการสำรวจแหล่งแร่ การทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมระเบิดย่อยหิน ให้ดำเนินการตามนัยกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
- ในกรณีที่มีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์นอกจากข้อ 1 และข้อ 2 ไปแล้ว เมื่อหมดอายุการอนุญาต ให้งดการต่ออายุใบอนุญาตโดยเด็ดขาด
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในอดีตประเทศไทยมิได้มีการกำหนดกรอบหรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ลุ่มน้ำ ดังนั้น เมื่อนำผลจากการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำไปใช้เป็นกรอบหรือนโยบายในการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งกำหนดมาตรการการใช้ที่ดินโดยห้ามมิให้มีการดำเนินกิจกรรมใดๆ โดยเด็ดขาด ย่อมมีผลกระทบต่อโครงการ/กิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน รวมถึง การตั้งถิ่นฐานของประชาชนบนพื้นที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่ตามเทือกเขาในเขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ดังนั้น จึงต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
โครงการของรัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ มีหลากหลายประเภทได้แก่ เส้นทางคมนาคมต่างๆ ทั้งถนนและทางรถไฟ เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สถานที่ราชการ โครงการพิเศษต่างๆ เป็นต้น โครงการต่างๆ ดังกล่าวที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ คณะรัฐมนตรีอาจจะพิจารณาผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เป็นการเฉพาะกรณีได้ โดยกำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อใช้เป็นกลไกในการจัดการป้องกัน แก้ไข หรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ทั้งในช่วงการก่อสร้างโครงการและหลังจากที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ
โครงการของเอกชนที่เกี่ยวข้องได้แก่ การทำเหมืองแร่ การระเบิดและย่อยหิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่สูง หากอยู่ในเขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ก็จะไม่สามารถดำเนินการขอต่ออายุประทานบัตรหรือสัมปทานได้ แต่สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี หากจะทำเหมืองแร่ก็สามารถขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป และหากมีการระเบิดและย่อยหินอยู่แล้ว และประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ก็สามารถดำเนินการได้อีก 1 ครั้ง (ระยะเวลา 5 ปี) เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาผลดีและผลเสียของการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำในภาพรวม แล้ว จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย เนื่องจากประเทศไทยจะสามารถรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญเอาไว้ได้ บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ซึ่งหากพิจารณาถึงสถานะของการเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญแล้ว ประเทศไทยมีพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 รวมทั้งประเทศอยู่เพียงประมาณร้อยละ 18 เท่านั้น
นับแต่มีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ก็ได้มีส่วนราชการหลายหน่วยงานรวมทั้งภาคเอกชน เสนอขอผ่อนผันยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ต่อมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 กำหนดให้ "..กรณีจำเป็นที่ต้องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ต่อคณะรัฐมนตรี ส่วนราชการจะต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาก่อน เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง"
มีปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงานการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำหรือไม่ หากมีจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร
ปัญหาอุปสรรคของการดำเนินนโยบายการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ได้แก่ ปัญหาการตั้งถิ่นฐานและทำเกษตรกรรมของราษฎรในพื้นที่สงวนหวงห้ามและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ปัญหาการดำเนินโครงการของภาครัฐบางประเภท ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ได้ อีกทั้งหน่วยงานปฏิบัติอาจจะยังมิได้กำหนดกรอบหรือแนวทางปฏิบัติของตนให้สอดคล้องกับมาตรการการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ
สำหรับวิธีการแก้ไขจะต้องอาศัยปัจจัยหลายปัจจัย เช่น การกำหนดรูปแบบการบริหารให้เกิดการประสานการดำเนินงานต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบและจริงจัง โดยอาจกำหนดให้มีกฎหมายและองค์กรเกี่ยวกับการรักษาพื้นที่ลุ่มน้ำหรือป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญเป็นการเฉพาะ เป็นต้น