การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินถือเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างภาษีของประเทศไทย เนื่องจากภาษีทรัพย์สินเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ...

โดย นางสาวปาริชาติ อินสว่าง1

นายเอกชัย ระดาพัฒน์2

กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ

การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินถือเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างภาษีของประเทศไทย เนื่องจากภาษีทรัพย์สินเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐทั้งในระดับประเทศ และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การตราพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จึงเป็นกฎหมายที่ปฏิรูปโครงสร้างภาษีของประเทศให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและแก้ไขปัญหาของระบบภาษีเดิมตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและไม่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งข้อจำกัดด้านฐานภาษี อัตราภาษี และการลดหย่อนภาษีที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีการตราพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 และให้เริ่มเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจัดเก็บได้จากฐานทรัพย์สินมีอัตราภาษีที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และ อปท. เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้มีความโปร่งใสและลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีของ อปท. ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการเก็บภาษีที่ดินของประเทศ3

การจัดเก็บภาษีที่ดินของประเทศไทยในปัจจุบัน (ณ ปี พ.ศ. 2566) ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 25624 ซึ่งเป็นการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินที่เป็นภาษีทางตรง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยประเมินฐานภาษีจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจำแนกตามประเภทของทรัพย์สิน การใช้ประโยชน์ และผู้เสียภาษี (บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล) โดยกำหนดอัตราภาษีเป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น ซึ่งทำให้ทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่สูงมีภาระภาษีที่ต่ำ ขณะที่ทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงจะมีภาระภาษีที่สูงขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผู้เสียภาษี คือ เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของห้องชุด ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้ ถ้าเจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นเป็นคนละคนกัน ก็ให้เจ้าของที่ดินเสียภาษีเฉพาะส่วนของมูลค่าที่ดิน ส่วนเจ้าของสิ่งปลูกสร้างก็เสียภาษีเฉพาะส่วนของมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง

ฐานภาษี คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจัดเก็บจากมูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

อัตราภาษี คือ อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะจำแนกตามประเภทของทรัพย์สินและการใช้ประโยชน์และผู้เสียภาษี (บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล) โดยกฎหมายจะมีการกำหนดเพดานของอัตราภาษี (Tax ceiling) เอาไว้ อย่างไรก็ตาม เพดานอัตราภาษีดังกล่าวไม่ใช่อัตราที่เก็บจริง เพราะอัตราที่เก็บจริงจะไปกำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะต้องไม่เกินอัตราภาษีที่พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนด นอกจากนี้ ท้องถิ่นยังสามารถตราข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษีที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาได้ แต่จะต้องไม่เกินอัตราภาษีที่กำหนดตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ที่พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนด ทั้งนี้ อัตราภาษีจะแตกต่างกันตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. ใช้ประกอบเกษตรกรรม จัดเก็บที่อัตราเพดานไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี
  2. ใช้อยู่อาศัย จัดเก็บที่อัตราเพดานไม่เกินร้อยละ 0.3 ของฐานภาษี
  3. ใช้ประโยชน์อื่น ๆ นอกจากเกษตรกรรมและอยู่อาศัย เช่น การใช้เพื่อประกอบอุตสาหกรรมหรือเพื่อการพาณิชย์ จัดเก็บที่อัตราเพดานไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี
  4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ จัดเก็บที่อัตราเพดานไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี แต่หากทิ้งร้างว่างเปล่าเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.3 และจะขึ้นภาษีอีกร้อยละ 0.3 ในทุก ๆ 3 ปี แต่กำหนดเพดานภาษีที่เสียรวมทั้งหมดสูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ 3 หากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ภาษีจะคำนวณตามสัดส่วนของการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภท

วิธีการคำนวณ การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะใช้คำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น โดยนำมูลค่าที่ดินและ/หรือสิ่งปลูกสร้างหักมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับการยกเว้น ก็จะได้มูลค่าของฐานภาษีสุทธิ จากนั้นก็จะนำไปคูณอัตราภาษีตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด ก็จะได้จำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสีย

การหักมูลค่าของฐานภาษี มีได้ใน 2 กรณี กล่าวคือ กรณี (1) เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษีได้ 75 ล้าน (2) เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัยได้รับยกเว้นฐานภาษี 25 ล้าน แต่ถ้าเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัยอย่างเดียวไม่รวมที่ดิน จะได้ยกเว้นฐานภาษี 10 ล้าน ทั้งนี้ อัตราภาษีจะลดลงร้อยละ 50 ให้กับที่พักอาศัยที่เจ้าของได้รับมรดกและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน นอกจากนี้ ในกรณีที่มีบ้านหลายหลัง กฎหมายจะยกเว้นให้กับบ้านหลังหลักที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน และจะเริ่มจัดเก็บจากบ้านหลังที่สองเป็นต้นไป

การยกเว้นภาษี กฎหมายกำหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ (1) ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานรัฐ โดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์ (2) ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกพันที่ต้องยกเว้นภาษีให้ตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ สถานทูตหรือสถานกงสุลของต่างประเทศ ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน (3) ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย (4) ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติ สุสานสาธารณะ หรือฌาปนสถานสาธารณะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์ (5) ทรัพย์สินที่เป็นของมูลนิธิ หรือองค์การ หรือสถานสาธารณกุศลที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนด เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์ (6) ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนด (7) ทรัพย์ส่วนกลางสำหรับเจ้าของร่วมของอาคารชุด (8) ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ (9) ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงวิธีการเสียภาษี จะเป็นแบบการประเมินโดยเจ้าพนักงานประเมินหรือ Authority assessment โดย อปท. เป็นผู้ประเมินให้ และจะส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปี และต้องชำระภาษีภายใน 30 เมษายนของปีนั้น

หน่วยงานที่มีอำนาจจัดเก็บ คือ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยภาษีที่จัดเก็บในเขตของ อปท. ใด ให้เป็นรายได้ของท้องถิ่นนั้น การระงับข้อพิพาทจะใช้การอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองก่อน กรณีผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษี สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อผู้บริหารท้องถิ่นได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษี เช่น กรุงเทพมหานคร ยื่นต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เทศบาล ก็ยื่นต่อนายกเทศมนตรี เป็นต้น ในกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาไม่เห็นชอบกับคำร้องของผู้เสียภาษี ผู้เสียภาษีมีสิทธิอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีประจำจังหวัดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีต่อศาลได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์

นอกจากนั้น ในปี พ.ศ. 2566 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการจัดเก็บภาษีในพื้นที่สีเขียว เช่น พื้นที่ป่าไม้ ป่าในเมือง หรือป่าปลูก โดยได้มีการหารือประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนิยามของคำว่า “พื้นที่สีเขียว” ทั้งนี้ หากมีการจัดเก็บภาษีในพื้นที่สีเขียวเกิดขึ้นจริงในอนาคต ผู้เขียนเห็นว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เขียวควรมีอัตราภาษีต่ำกว่าพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนปลูกป่าในพื้นที่ของตนเป็นพื้นที่สีเขียวมากขึ้น

ภายหลังจากที่ได้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในช่วง พ.ศ. 2563 – 2564 ที่ผ่านมา ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 นั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ตรวจสอบพบว่า รัฐเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้น การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมีปัญหาและอุปสรรค ดังนี้

  1. ภาครัฐจัดเก็บภาษีที่ดินได้น้อย เช่น การใช้ที่ดินประกอบเกษตรกรรม ซึ่งจัดเก็บที่อัตราเพดานไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำ หรือปัญหาการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาทให้แก่เจ้าของที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา เป็นต้น ทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นภาษีและทำให้ อปท. จัดเก็บภาษีได้น้อย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
  2. การหลีกเลี่ยงภาษี เช่น การกำหนดอัตราภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้สูงมาก ทำให้มีการปลูกพืชเกษตรในที่แปลงว่าง ซึ่งจะทำให้เสียภาษีที่ถูกลง เช่น ปลูกกล้วย มะพร้าว หรือมะนาว หรือกรณีการพาณิชย์ จัดเก็บที่อัตราเพดานไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี เช่น ผู้ประกอบการเจ้าของหอพักใช้วิธีการย้ายชื่อเข้าไปเป็นผู้พักอาศัย โดยอ้างว่าไม่ใช่การทำธุรกิจ ก็จะเสียภาษีในอัตราที่ถูกลง เช่น จาก 4 ล้านบาทก็เสียภาษีเพียง 7 หมื่นบาท เป็นต้น จึงทำให้รัฐขาดรายได้จากส่วนนี้ไปเป็นจำนวนมาก5
  3. การประเมินมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง ราคากลางมักจะไม่สมจริง เนื่องจากราคากลางที่ใช้สำหรับการประเมินสิ่งปลูกสร้างระหว่างคนจน - คนรวยมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ บ้านคนรวยที่ใช้วัสดุชั้นดีมีราคาแพงกว่าบ้านคนจนหลายเท่าตัว เมื่อประเมินโดยอิงราคากลางเท่ากันแล้ว คนรวยจ่ายภาษีเท่ากับคนจน ดังนั้น ภาระภาษีร้อยละของรายได้คนรวยต่ำกว่าคนจนในลักษณะภาษีแบบถอยหลัง6

ดังนั้น จากปัญหาและอุปสรรคข้างต้น จึงได้มีข้อเสนอแนะที่หลากหลายในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน อันจะทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกิดประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินโดยสรุปได้ดังนี้7

  1. การปรับปรุง/แก้ไขระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรคำนึงถึงการส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพ เพื่อให้ใช้ที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและขจัดปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมที่ผ่านมา เช่น การใช้ที่ดินในย่านธุรกิจไปทำเกษตรกรรม เพื่อหลบเลี่ยงภาษี เป็นต้น
  2. การกำหนดอัตราภาษีควรมีแรงจูงใจเพียงพอที่จะลดสัดส่วนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพให้มากที่สุด และอาจพิจารณาการดำเนินงานร่วมกับกลไกอื่นที่จะส่งเสริมการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เช่น การซื้อ/การเช่าระยะยาวในที่ดินของเอกชนมาจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรและผู้ไร้ที่ดินทำกินภายใต้การดำเนินการของธนาคารที่ดิน เป็นต้น
  3. ควรพิจารณาให้มีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนผู้เสียภาษีครบถ้วนตามกำหนด เช่น การลดหย่อนต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้มากขึ้น
  4. ควรมีอัตราการประเมินหรืออัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน
  5. ควรกำหนดบทลงโทษที่เข้มงวดและเด็ดขาดจากการเลี่ยงภาษี
  6. ควรชะลอการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อน โดยเริ่มเก็บภาษีในอัตรา 50% ในปี พ.ศ. 2567 ภาษีในอัตรา 70% ในปี พ.ศ. 2568 ภาษีในอัตรา 100% ในปี 2569 ของฐานภาษีแต่ละประเภท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว
  7. ควรยกเลิกให้กับบ้านหลังหลักสำหรับผู้ที่มีกำลังการจ่ายภาษีน้อย ควรอยู่ที่ 3 - 5 ล้านบาท เพราะเป็นมูลค่าที่อยู่อาศัยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเจ้าของ และไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่มีบ้านมากกว่า 1 หลัง แต่ต้องเสียภาษีสำหรับบ้านหลังถัดไป การแก้ปัญหาอัตราภาษีที่อยู่อาศัย ควรลดเพดานราคาบ้านหลังแรกลง ส่วนอาคารพาณิชย์ ต้องกำกับให้ชัดว่าเพื่อการค้าขายหรือที่อยู่อาศัย ควรแยกหมวดหมู่ให้ชัดเจน เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ควรเก็บภาษีแยกออกจากหมวดที่พักอาศัย โดยการกำหนดอัตราที่สูงขึ้น
  8. ควรจัดให้มีการยื่นแบบเสียภาษีผ่านระบบออนไลน์เชื่อมโยงกับประชาชนผู้เสียภาษี เพื่อสร้างความสะดวกในการเสียภาษีให้แก่ประชาชน8

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังพบประเด็นปัญหาอยู่หลายประการ เช่น รัฐยังคงจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น การหลีกเลี่ยงภาษี การประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังไม่เป็นธรรม เป็นต้น ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมทางภาษี ลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป


อ้างอิง

1นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

2นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

3 คณาธิป ไกยชน. (2565). ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 จาก https://library.parliament.go.th/th/radioscript/rr2565-sep3.

4 พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอน 30 ก (12 มีนาคม 2562).

5 ทีเอ็นเอ็นออนไลน์. (14 มิถุนายน 2566). กทม.ไม่ทน! ไล่บี้คลังทบทวนภาษีที่ดิน. [Video file]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=PmPMQEY83Fg.

6 มติชนออนไลน์. (2564). วิพากษ์ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง. เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566. จาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_2907736.

7 ดวงมณี เลาวกุล. (2566). โครงการเตรียมความพร้อมศักยภาพและทักษะด้านการศึกษาวิจัยของบุคลากรเพื่อพัฒนานโยบายและการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566.

8 อำนวย สังข์ช่วย. (2564). ปัญหาอุปสรรคและผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น. ปีที่ 11 (ฉบับที่ 3), หน้า 288. จาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/neuarj/article/view/253160/173986.


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint