"กระบวนการคุณภาพ (PDCA)" หนึ่งในเครื่องมือที่น่าสนใจและเป็นทางเลือกสำหรับองค์กรนำมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนการดำเนินงานเชิงนโยบายหรือการดำเนินงานในเชิงปฏิบัติ ...
โดย นางสาววรัญญา ศีลาเจริญ1
นางสาวภัทริยา ดู่สันเทียะ2
นายสมสวัสดิ์ ยาสิงห์ทอง3
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานนโยบายและแผน
เนื่องด้วยสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงทีเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วผ่านกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการ และในอีกแนวทางหนึ่ง คือ การนำเทคนิค/เครื่องมือมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการพัฒนาได้ในหลากหลายแง่มุม หรือที่เรียกว่า “กระบวนการคุณภาพ (PDCA)” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาอย่างยาวนานและถูกนำมาประยุกต์ใช้งาน อย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงคุณภาพของอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมทั้งเป็นรากฐานของระบบคุณภาพอื่นๆ ที่ใช้ในทุกวันนี้ เนื่องจากมีกระบวนการที่ง่ายและไม่ซับซ้อน จึงเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจและเป็นทางเลือกสำหรับองค์กรนำมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนการดำเนินงานเชิงนโยบายหรือการดำเนินงานในเชิงปฏิบัติ
กระบวนการคุณภาพ (PDCA) หรือเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อคือ “วงจรเด็มมิ่ง (Deming Cycle)” คิดค้นโดยวอล์ทเตอร์ ชิวฮาร์ท (Walter Shewhart) ผู้บุกเบิก และเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นโดยเอ็ดวาร์ด เดมมิ่ง (W. Edwards Deming) ประกอบด้วยโครงสร้าง 4 ขั้นตอน ได้แก่ P – Plan (การวางแผน) เป็นการวางแผนที่มีรายละเอียดครอบคลุมทั้งในส่วนของเป้าหมายการดำเนินงาน การกำหนดการประเมินความสำเร็จ แนวทางการดำเนินงาน ภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง กรอบระยะเวลาการดำเนินงาน D – DO (การปฏิบัติตามแผน) เป็นการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงการดำเนินการต่างๆ ในรูปแบบโครงการหรือการดำเนินการต่างๆ ตามแผนที่กำหนด เพื่อบรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายของแผนที่กำหนดอย่างเป็นรูปธรรม C – Check (การตรวจสอบ) เป็นการตรวจสอบการดำเนินการระหว่างและหลังการปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ ด้วยกลไกที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการปฏิบัติงาน เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะการปรับปรุงการดำเนินการ และ A – Act (การปรับปรุงการดำเนินการ) เป็นการปรับปรุงแผนและการปฏิบัติงานให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมต่อไป โดยการนำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาประมวลและวิเคราะห์ในลักษณะเชิงลึกเพื่อปรับปรุง แก้ไข และพัฒนากระบวนการให้ดียิ่งขึ้น4
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ในฐานะหน่วยงานเชิงนโยบายด้านที่ดินและทรัพยากรดิน ได้จัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศสำหรับใช้เป็นกรอบทิศทางการดำเนินการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเอกภาพ โดยได้นำเครื่องมือ PDCA มาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงและพัฒนานโยบายและแผนฯ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายและแผนฯ เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างชัดเจนและเห็นผลเป็นรูปธรรม ตลอดจนบรรลุได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด อันจะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังนี้
P – Plan (การวางแผน): ในขั้นตอนของการวางแผนจำเป็นต้องดำเนินการทบทวนนโยบายและแผนระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ กฎต่างๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมสำรวจและค้นหาสถานการณ์ปัญหาที่สำคัญที่ต้องการได้รับการแก้ไขเพื่อเป็นข้อมูลในขั้นตอนการวาง/กำหนดแผน ซึ่งแผนในที่นี้ คือ นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
D – DO (การปฏิบัติตามแผน): เป็นขั้นตอนการแปลงนโยบายและแผนฯ (พ.ศ. 2566 - 2580) ซึ่งเป็นกรอบนโยบายหลักด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในระยะยาว 15 ปี ไปสู่การปฏิบัติผ่านแผนระยะต่างๆ ได้แก่ แผนระยะกลาง (ระยะ 5 ปี) และแผนระยะสั้น (รายปี) ของ สคทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้มีการถ่ายทอดแนวนโยบาย เป้าหมาย และตัวชี้วัด จากในห้วงระยะ 5 ปีแรกของการประกาศใช้นโยบายและแผนฯ สู่แผนระยะกลาง คือ แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งการขับเคลื่อนในระยะแรกได้มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการยอมรับและตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายและแผนฯ (พ.ศ. 2566 - 2580) และแผนปฏิบัติการฯ (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการด้านที่ดินและทรัพยากรดินตามภารกิจได้อย่างสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยการนำแผนงาน/โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ (พ.ศ. 2566 – 2570) ไปบรรจุภายใต้แผนปฏิบัติราชการของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้การถ่ายทอดนโยบายและแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
C – Check (การตรวจสอบ): การติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีตามกรอบระยะเวลาของแผนปฏิบัติการฯ (พ.ศ. 2566 - 2570) และการติดตาม ประเมินผลในช่วงระหว่างกึ่งกลางแผนและหลังสิ้นสุดแผนด้วยกลไกที่กำหนด เพื่อจัดทำรายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ เพื่อเผยแพร่ให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบ โดยผลที่ได้จากการติดตามความก้าวหน้านี้จะช่วยบ่งชี้สถานการณ์และแสดงโอกาสแนวโน้มความสำเร็จในการบรรลุตามเป้าหมายของแผนภายใต้กรอบนโยบายและแผนฯ ที่กำหนด ตลอดจนสามารถนำข้อค้นพบ ปัญหา และอุปสรรคที่เกิดจากการดำเนินการมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขหรือเร่งรัดการดำเนินการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถขับเคลื่อนแผนฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุได้ตามเป้าหมายที่กำหนด และเป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงทบทวนแผนปฏิบัติการฯ (พ.ศ. 2566 - 2570) ในช่วงกึ่งกลางแผนและหลังสิ้นสุดแผน รวมถึงนโยบายและแผนฯ (พ.ศ. 2566 - 2580) ในระยะต่อไป
A – Act (การปรับปรุงการดำเนินการ): การนำข้อมูลช่องว่างการพัฒนา แนวทางการปรับปรุงแก้ไขปัญหาอุปสรรค ซึ่งเป็นผลที่ได้การติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ ในช่วงกรอบระยะเวลาของแผนปฏิบัติการฯ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2570 มาประกอบการทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาแนวทางการดำเนินงานภารกิจของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการฯ เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนภารกิจให้สามารถบรรลุผลได้ตามที่กำหนด ณ สิ้นสุดแผนฯ และเป็นข้อมูลประกอบการทบทวนนโยบายและแผนฯ (พ.ศ. 2566 - 2580) ในระยะต่อไป เพื่อพัฒนานโยบายและแผนฯ ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพการณ์ และทิศทางแนวโน้มในอนาคต และสามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินและทรัพยากรดินได้อย่างเป็นรูปธรรม5
นอกจากนี้ ข้อมูลช่องว่างการพัฒนาและแนวทางการปรับปรุงการดำเนินการที่ได้จากขั้นตอน A – Act (การปรับปรุงการดำเนินการ) ของการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ (พ.ศ. 2566 - 2570) ภายใต้กรอบนโยบายและแผนฯ ในห้วงระยะ 5 ปีแรกของการประกาศใช้ จะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลป้อนกลับสำหรับการปรับปรุง/พัฒนานโยบายและแผนฯ ในห้วงระยะที่ 2 ต่อไป
จะเห็นได้ว่า การกำหนดนโยบายและแผนฯ ที่สมบูรณ์แบบภายในครั้งเดียวให้สามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาด้านที่ดินและทรัพยากรดินที่มีให้หมดสิ้นนั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก และไม่สามารถจะเป็นไปได้ด้วยในความเป็นจริง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการพัฒนานโยบายและแผนฯ อย่างต่อเนื่องด้วยการประยุกต์ใช้กระบวนการคุณภาพ (PDCA) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่องหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่าน 4 ขั้นตอนง่ายๆ คือ P – Plan (การวางแผน) D – Do (การปฏิบัติตามแผน) C - Check (การตรวจสอบ) และ A - Act (การปรับปรุงการดำเนินการ)ที่สามารถทำซ้ำใหม่ได้เรื่อยๆ เพื่อยกระดับนโยบายและแผนฯ ให้ดียิ่งขึ้น สามารถปิดช่องว่างการพัฒนา เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ เสริมสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งจะส่งผลประโยชน์กับประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรดินอันเป็นปัจจัยพื้นฐานการผลิตที่สำคัญและเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างยั่งยืนจากฐานการบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมดำเนินการตามภารกิจที่เป็นเอกภาพภายใต้กรอบนโยบายและแผนฯ ที่ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง
1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
3 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
4 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2561). รายงานการวิจัย เรื่อง การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ กรณีศึกษาหน่วยงานที่ได้รับรางวัลคุณภาพบริหารจัดการภาครัฐ หมวด 3 ด้านการมุ่งเน้นผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย. เข้าถึงเมื่อ 13 มีนาคม 2567 จาก https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/article/article_20180226162231.pdf.
5 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580), หน้า 133 - 139.