เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผอ.สคทช. และคณะ พร้อมด้วย นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คทช. จังหวัด กรมป่าไม้ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมประชุมหารือเพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ คทช. บ้านกกตาด ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
ผอ.สคทช. กล่าวว่า สคทช. และกรมป่าไม้ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องของการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง (ราษฎรอยู่อาศัยมาก่อนการสำรวจตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 3 ,4 และ 5) โดยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในลักษณะแปลงรวม ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่บ้านกกตาดได้รับอนุญาตแล้วจำนวน 2 ครั้ง เนื้อที่รวมประมาณ 267 ไร่ ดังนี้
- ครั้งที่ 1 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยขมิ้น ป่าพุน้ำร้อน และป่าหนองหญ้าไทร กรมป่าไม้ออกหนังสืออนุญาต เล่มที่ 125 ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เนื้อที่รวม 362 - 0 - 87 ไร่ (บ้านกกตาด เนื้อที่ประมาณ 208 ไร่)
- ครั้งที่ 2 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยขมิ้น ป่าพุน้ำร้อน และป่าหนองหญ้าไทร กรมป่าไม้ออกหนังสืออนุญาต เล่มที่ 16 ฉบับที่ 01 ลงวันที่ 30 กันยายน 2563 เนื้อที่รวม 352 - 3 - 85 ไร่ (บ้านกกตาด เนื้อที่ประมาณ 59 ไร่) สำหรับพื้นที่บ้านกกตาดส่วนที่เหลือ อยู่ในระหว่างดำเนินการอนุญาตจากกรมป่าไม้ เนื้อที่รวมประมาณ 735 ไร่ ที่รวมอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยขมิ้น ป่าพุน้ำร้อน และป่าหนองหญ้าไทร เนื้อที่รวม 15,417 - 3 - 77 ไร่ และในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู เนื้อที่รวม 20,151 - 0 - 17 ไร่ ซึ่ง คทช. จังหวัดสุพรรณบุรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการและยื่นเรื่องขออนุญาตใช้ประโยชน์กับกรมป่าไม้แล้ว สำหรับพื้นที่ที่ได้รับหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ไปพื้นที่บ้านกกตาดและหมู่บ้านใกล้เคียงในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยขมิ้น ป่าพุน้ำร้อน และป่าหนองหญ้าไทร ได้ดำเนินการจัดคนลงในพื้นที่แล้ว จำนวน 137 ราย 155 แปลง และได้จัดทำสมุดประจำตัวให้ผู้ได้รับการคัดเลือกแล้ว จำนวน 155 ราย
ทั้งนี้ ในการดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐในการดูแล รักษา ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพในพื้นที่ คทช. ส่งผลให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งหากในพื้นที่มีการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนก็จะสามารถยกระดับการจัดที่ดินทํากินให้ชุมชน โดยปรับเปลี่ยนให้ผู้ขอใช้ประโยชน์การอยู่อาศัยและทำกินในป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนได้ ตามนโยบาย คทช. ภายใต้เงื่อนไขแนวทางปฏิบัติของกรมป่าไม้ มาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โดยเป็นไปตามแนวทางการประเมินความเข้มแข็งในการบริหารจัดการของสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเสนอผ่าน คทช.จังหวัด ไปยังกรมป่าไม้เพื่อดําเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป