เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผอ.สคทช. และว่าที่ร้อยตรี พีรพล มั่นจิตต์ ผู้อำนวยการกองที่ดินของรัฐ สคทช. พร้อมด้วยผู้แทนกรมป่าไม้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานในคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด ร่วมประชุมหารือเพื่อติดตามและประชาสัมพันธ์การส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด รวมทั้งรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าบางเบาและป่าคลองเซียด” ตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
จากสภาพภูมิประเทศบริเวณตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่ราบสูงและลาดชันตามเขตเนินเขา ส่วนใหญ่เป็นเขาดินและเขาหินปูน ส่วนพื้นที่ตามแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบางเบาและป่าคลองเซียด เป็นพื้นที่ราบร้อยละ 31.81 และพื้นที่ลาดชันร้อยละ 68.19 ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันได้มีโครงการ "จัดที่ดินทำกินให้ชุมชน" เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ให้สามารถอยู่อาศัยทำกินในที่ดินของรัฐได้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกรมป่าไม้ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ได้ใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในป่าสงวนแห่งชาติ (ก่อนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541) ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 3 4 และ 5 มาอย่างต่อเนื่อง โดยการอนุญาตให้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในลักษณะแปลงรวม ซึ่งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบางเบาและป่าคลองเซียด มีการดำเนินงานที่ผ่านมา สรุปดังนี้คือ
- เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2559 คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ภายใต้คณะกรรมการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีมติเห็นชอบให้นำพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบางเบาและป่าคลองเซียด ท้องที่ตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล
- เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 กรมป่าไม้ได้ออกหนังสืออนุญาตให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบางเบาและป่าคลองเซียด ตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507) เนื้อที่ 2,900 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา และดำเนินการจัดที่ดินทำกินฯ โดย คทช. จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจัดที่ดินให้แก่ราษฎรจำนวน 295 ราย 295 แปลง พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาอาชีพภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ
- ด้านทรัพยากรดิน โดยส่งเสริมการปรับปรุงดิน ช่วยวางแผนการใช้ดิน เช่น ส่งเสริมให้ความรู้ในด้านการจัดหาแหล่งน้ำธรรมชาติ การจัดเก็บน้ำโดยการทำฝายชะลอน้ำ การจัดหาพื้นที่ในการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงภาวะแห้งแล้ง และการให้ความรู้เรื่องสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงดินให้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น
- ด้านการรวมกลุ่ม ส่งเสริมสนับสนุนการรวมกลุ่มตามความต้องการของราษฎรเพื่อจัดตั้งสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จัดทำแผนการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจ มีการจัดตั้งสหกรณ์ป่าบางเบาบ้านควนทัง มีการส่งเสริมอาชีพทั้งการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกพืชผัก ซึ่งเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ และรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือน
- ด้านการจัดทำบัญชีครัวเรือน โดยแนะนำ ส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อให้สอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการให้ความรู้แก่สมาชิกเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายภายในครัวเรือน และสามารถลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น อีกทั้งให้รู้จักการหารายได้เสริมนอกเหนือจากอาชีพหลัก และยังให้ครัวเรือนรู้จักพอประมาณตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- ทั้งนี้ จากการประเมินผลการดำเนินงาน พบว่าพื้นที่ดังกล่าวประสบความสำเร็จในหลายมิติ เกิดความร่วมมือกันระหว่างชุมชน และหน่วยงานรัฐในการฟื้นฟูสภาพป่าส่งผลให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ตามคำกล่าวที่ว่า.. “รัฐได้ป่า ประชาได้ที่ทำกิน” และราษฎรได้รับการแก้ไขปัญหาให้อยู่อาศัยทำกินอย่างถูกต้อง มีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพในพื้นที่ ส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญที่ภาครัฐได้เข้ามาแก้ไขปัญหา และส่งเสริมสนับสนุนภายใต้การดำเนินงานของ คทช.