เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2565 ณ สหกรณ์บ้านโนนฝาวพัฒนาเกษตรอินทรีย์ (คทช.) จำกัด ตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ สคทช. และผู้แทนกรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปราจีนบุรี ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพและการตลาด ในพื้นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน ที่ ปจ.259 เพื่อสำรวจคุณภาพชีวิตประชาชนหลังได้รับที่ดินทำกินไปแล้ว ตามนโยบายของรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ให้มีที่อยู่อาศัยและมีสิทธิบนที่ดินอย่างถูกกฎหมาย
โดยนายธเนศ ยังจิตร อดีตผู้ใหญ่บ้านโนนฝาว ตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี ได้ให้การต้อนรับและรายงานว่า ชาวบ้าน 41 ครัวเรือน ได้รับการคัดเลือกให้มีที่ดินทำกิน บ้านละ 1 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน คือ 1 งาน เป็นที่อยู่อาศัย 3 งาน เป็นที่ดินทำกิน ทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีงาน มีรายได้
ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับการจัดสรรที่ดิน กล่าวว่า ภายหลังมีที่ดินทำกิน ก็สามารถวางแผนเพาะปลูกทำการเกษตร ได้ปีละ 4 รอบ สร้างรายได้ครั้งละประมาณ 30,000 บาท จากการปลูกพืชผสมผสาน เช่น ถั่ว แตงกวา มะนาว ส้มโอ ข้าวโพด มะละกอ และผักพื้นบ้านทำให้มีเงินใช้หนี้ มีชีวิตที่ดีขึ้น มีเงินส่งลูกเข้ามหาวิทยาลัยได้
ทั้งนี้ ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน ที่ ปจ.259 เนื้อที่ 68-3-47 ไร่ เดิมมีการใช้ประโยชน์ในราชการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดจันทรังษีถาวร (โรงเรียนวัดซำปลาตองเดิม) ต่อมาภายหลังโรงเรียนถูกยุบเลิกจึงได้ส่งคืนกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ได้ให้สหกรณ์บ้านโนนฝาวพัฒนาเกษตรอินทรีย์ (คทช.) จำกัด เช่าจำนวน 2 สัญญา โดยคิดค่าอัตราค่าเช่า ตารางวาละ 0.25 บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ประกอบด้วย 1) เช่าเพื่ออยู่อาศัย เนื้อที่ประมาณ 11-1-91.20ไร่ (4,591.20 ตารางวา) ปัจจุบันค่าเช่าปีละ 14,875 บาท 2) เช่าเพื่อประกอบการเกษตร เนื้อที่ประมาณ 34-3-00 ไร่ (13,900 ตารางวา) ค่าเช่าปีละ 7,576 บาท ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีสมาชิก จำนวนทั้งสิ้น 41 ราย (ครัวเรือน) มีการจัดสรรพื้นที่เป็นแปลงย่อยให้แก่สมาชิกเพื่ออยู่อาศัย รายละประมาณ 100 ตารางวา และเพื่อประกอบการเกษตร รายละ 300 ตารางวา โดยเกษตรกรต้องการองค์ความรู้ในการพัฒนาทักษะด้านการเกษตรมากขึ้น