เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น. ณ อาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พร้อมด้วย ว่าที่ ร้อยตรี พีรพล มั่นจิตต์ ผู้อำนวยการกองที่ดินของรัฐ นายศิริชัย เรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน และเจ้าหน้าที่ สคทช. เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบาย ต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรดังกล่าว จำนวน 11 หน่วยงาน โดยกำหนดโจทย์การขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และหมุดหมายจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ดำเนินการผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation Lab) จำนวน 3 โจทย์ ได้แก่ 1. การพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ 2. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและลดความเสี่ยงจากอุทกภัย และ 3. การพัฒนาสมรรถนะทุนมนุษย์เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต โดย สคทช. ได้เข้าร่วมพัฒนาต้นแบบในโจทย์ที่ 2 ซึ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง กรณีศึกษาจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดเพชรบุรี โดยการนำศาสตร์พระราชาในการจัดการน้ำเชิงพื้นที่และเทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่ได้จากหลักสูตร ป.ย.ป. ซึ่งล้วนเป็นแนวทางเพื่อจัดการความท้าทายสำคัญและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ จึงต้องช่วยกันคิดและขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างบูรณาการและต่อเนื่อง โดยใช้กลไกความร่วมมือ การสร้างความเชื่อมโยงของทุกภาคส่วน การสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน และการดำเนินงานอย่างเท่าเทียม โปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ นอกจากนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นต่อผลการศึกษาว่าเป็นสิ่งที่ต้องนำไปดำเนินการและร่วมกันคิดในระยะยาว ซึ่งเห็นว่าโจทย์ข้อ 2 และ 3 ดำเนินการมาถูกทางแล้ว ส่วนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นการเฉพาะซึ่งจะต้องเน้นการสร้างเวทีที่มีความโอภาปราศัย ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ไม่มีคำตัดสิน แต่เน้นการเวทีเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้น