เมื่อวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายณัฐวุฒิ เปลื้องทุกข์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สคทช. เป็นประธานการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อพิจารณากำหนดค่าน้ำหนักของตัวชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ค่าเป้าหมายการบริหารจัดที่ดินและทรัพยากรดินที่ยั่งยืนในมิติต่าง ๆ รวมถึง เกณฑ์และวิธีการประเมินดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ภายใต้โครงการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี นายกลย์วัฒน์ สาขากร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ที่คณะปรึกษาโครงการฯ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางและภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ สคทช. จำนวนรวม 180 คน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องแซฟไฟร์ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ และผ่านระบบ Video Conference
ทั้งนี้ การประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2566 โดยเป็นการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ต่อเนื่องจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดิน และ (ร่าง) ตัวชี้วัดภายใต้ดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดิน เมื่อวันที่ 10 - 11 และ 18 พฤษภาคม 2566 เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อกรอบแนวคิด วิธีการ ขั้นตอนการพิจารณากำหนดค่าน้ำหนัก ค่าเป้าหมาย รวมถึงเกณฑ์และวิธีการประเมินดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย
- วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 กลุ่มที่ 1 ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environment Friendly) และกลุ่มที่ 2 ด้านการเพิ่มผลิตภาพที่ดิน (Land Productivity)
- วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 กลุ่มที่ 3 ด้านการลดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน (Degradation Reduction) และกลุ่มที่ 4 ด้านการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรดิน (Soil Quality Enhancement) และด้านการจัดการเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Management)
- วันที่ 1 มิถุนายน 2566 กลุ่มที่ 5 ด้านการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม (Social Equality) และกลุ่มที่ 6 ด้านการกำกับดูแลที่ดี (Good Governance)
ทั้งนี้ ผลจากการรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย จะรวบรวม ประมวล และวิเคราะห์ เพื่อนำมาทดลองประเมินดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินฯ ตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้ชุดข้อมูลตัวชี้วัดภายใต้ดัชนีฯ รวมถึงข้อเสนอแนะแนวทางในการจัดเก็บตัวชี้วัด การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลของดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป