วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ผอ.สคทช.) พร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ เปลื้องทุกข์ ผู้ช่วย ผอ.สคทช. คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สคทช. ร่วมให้การต้อนรับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะฯ ในการลงพื้นที่ติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานตามภารกิจของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนภารกิจ คทช. ในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน การส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ภายหลังจากที่ได้รับการอนุญาตเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ และการยกระดับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เกิดการสร้างมูลค่าจากการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างสูงสุดในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ คทช. จังหวัดน่าน พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่ คทช. ต้นแบบ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แม่จริม และวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟสวนยาหลวง ที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดให้เกษตรกรจนประสบความสำเร็จ เกษตรกรสามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีกำหนดการลงพื้นที่ฯ ระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมี ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผู้แทนจากกรมป่าไม้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานฯ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่จริม วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แม่จริม และวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟสวนยาหลวง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
นายภูมิธรรมฯ กล่าวโดยสรุปว่า รัฐบาลมีนโยบายที่มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในด้านที่ดินทำกิน เพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนผู้ยากไร้ ได้มีที่ดินทำกินและได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐในด้านต่าง ๆ ทั้งแหล่งน้ำ ไฟฟ้า ถนน และการตลาด จึงได้มอบนโยบายให้ สคทช. และทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือเพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนการจัดที่ดิน เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ คทช. ได้รับการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ สำหรับการประกอบอาชีพ รวมถึงขยายผลการดำเนินงาน และต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งพื้นที่จังหวัดน่าน มีการส่งเสริมการปลูกกาแฟ และชุมชนมีความพร้อมที่จะต่อยอดพัฒนาไปสู่การแข่งขันทางการค้าในอนาคต ภายใต้การรวมกลุ่มของวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ อย่างไรก็ตาม หากต้องการยกระดับสินค้าเพื่อไปสู่ตลาดโลก จำเป็นต้องมีการพัฒนาสินค้าตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงต้องเร่งรัดกระบวนการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP และการรับรองสินค้ากาแฟตามมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ปลูกและผู้ประกอบการกาแฟในพื้นที่ คทช. ช่วยยกระดับรายได้ท้องถิ่น ต่อไป
ดร.รวีวรรณฯ ได้กล่าวรายงานสรุปภาพรวมผลการดำเนินงานกระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ คทช. ว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คทช. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนการจัดที่ดินทำกินชุมชน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีสิทธิทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้ความมั่นใจในการประกอบอาชีพ สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต โดยมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายทั้งสิ้น 1,582 พื้นที่ ในเนื้อที่ 5.9 ล้านไร่ ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 2.4 ล้านไร่ มีการจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินแล้วกว่า 85,000 ราย มีการส่งเสริมพัฒนาอาชีพแล้ว 312 พื้นที่ ใน 66 จังหวัด ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และการจัดหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 21 หน่วยงาน เพื่อร่วมพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ BEDO เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพหรือพัฒนาศักยภาพชุมชน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับภาคเอกชน อาทิ SCG และมีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ในอนาคต พร้อมกันนี้ สคทช. ยังได้พัฒนาตราสัญลักษณ์เครื่องหมายผลิตภัณฑ์จากชุมชน คทช. รับรองว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้น มาจากกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายป่าและถูกต้องตามกฎหมายของประเทศ รวมถึงการได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้อง เพื่อเตรียมการรองรับระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR ที่มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 โดยจะบังคับกับกลุ่มสินค้าควบคุม 7 กลุ่ม ได้แก่ โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ยางพารา ถั่วเหลือง ไม้ และโค รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง ได้กำหนดแผนงานในการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันผลกระทบจากการควบคุมสินค้าภายใต้ EUDR ต่อประชาชนในพื้นที่ คทช. โดยจะขยายผลความสำเร็จจากการส่งเสริมผลิตภัณฑ์กาแฟในพื้นที่ คทช. จังหวัดน่าน ไปสู่พื้นที่ คทช. อื่นๆ ต่อไป