เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม 2568 เวลา 09.30 น. ดร. รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนา “เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้ร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการพัฒนาเพื่อยกระดับระบบการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ รวมทั้ง เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการพัฒนาด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมสัมมนา ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม 1 และ 2 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร
ดร.รวีวรรณฯ กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบบก้าวกระโดด ซึ่งเทคโนโลยี AI นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีประโยชน์กับงานหลากหลายประเภท ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น สคทช. เล็งเห็นบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะสามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนภารกิจด้านที่ดินของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลที่ดิน การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านที่ดินและทรัพยากรดิน หรือแม้กระทั่งการพัฒนาระบบจัดการข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินที่มีความแม่นยำและทันสมัย โดยเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ถือเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนและการตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด เช่น การใช้ระบบ GIS (Geographic Information System) ร่วมกับเทคโนโลยี AI เพื่อการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ดินในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยในการตรวจสอบสิทธิการถือครองที่ดิน การป้องกันการครอบครองที่ดินอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการจัดการปัญหาที่ดินทับซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีตัวอย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยี AI มาใช้ในภารกิจของ สคทช. ได้แก่ 1) ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบฐานข้อมูลพื้นที่ คทช. ภายใต้แพลตฟอร์มการแสดงผล Sphere 2) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) 3) การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ในการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ โดยใช้ร่วมกับชุดโปรแกรมสำหรับงานโฟโตแกรมเมตรีและเครื่องมองภาพสามมิติแบบดิจิทัลเพื่อประยุกต์ใช้ในการกำหนดค่าพิกัดของภาพถ่ายทางอากาศและมองภาพสามมิติในรูปแบบดิจิทัล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบการพัฒนาระบบการอ่านภาพถ่ายทางอากาศด้วย AI แบบเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning : DL) 4) การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ได้รับการจัดที่ดินทำกินภายใต้ คทช. อาทิ การรวมรวมข้อมูล Big Data การใช้ AI ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลดิน น้ำ และสภาพอากาศ เป็นต้น
"การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และยังจะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และสร้างความเป็นธรรมให้พี่น้องประชาชนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนการดำเนินงานในด้านนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อบูรณาการการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้การนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์สูงสุด"
ทั้งนี้ การจัดสัมมนาได้รับเกียรติจากวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย ร่วมบรรยายให้ความรู้ ได้แก่ นางธัญวรัตม์ อนันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), ดร.นพดล คีรีเพ็ชร นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), ผศ.ดร. ธีทัต เจริญกาลัญญูตา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการเสวนาในหัวข้อ "การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย" โดย ว่าที่ร้อยตรี พีรพล มั่นจิตต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ, นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ นายจนิษฐ์ ประเสริฐบูรณะกุล ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท จีไอเอส จำกัด เข้าร่วมบรรยาย โดยมี นายสถาพร ด่านขุนทด เป็นผู้ดำเนินรายการ