โดย นางสุขฤทัย ภคกษมา
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานนโยบายและแผน
ที่ดินและทรัพยากรดิน ถือเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินชีวิต และการใช้ประโยชน์สำหรับการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่ความต้องการในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ จึงก่อให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งในเรื่องของที่ดินตามมาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การกระจายการถือครองที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม การบุกรุกพื้นที่ป่า ตลอดจนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพ ฯลฯ ซึ่งหากมองภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นจะพบว่า ต้นตอของปัญหาที่แท้จริง คือ การขาดเอกภาพในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศและการบงัคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละฉบับ ประกอบกับการไม่มีหน่วยงานกลางที่จะควบคุม กำกับ ดูแล เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศมีความเป็นเอกภาพ ซึ่งปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินที่เกิดขึ้นในตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ปัญหาเหล่านี้จะยังคงเป็นปัญหาที่ถูกสั่งสมเป็นระยะเวลานานและจำนำมาซึ่งความรุนแรง ความซับซ้อน และยากต่อการแก้ไข1
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวและได้บัญญัติไว้ในมาตรา 72 ว่า "รัฐพึงดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดินโดยวางแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่และศักยภาพของที่ดินตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้ง กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีมาตรการการกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ฯลฯ" ประกอบกับในมาตรา 258 (ซ.) บัญญัติว่า "ให้จัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการตรวจสอบกรรมสิทธิ์และการถือครองที่ดินทั้งประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหากรรมสิทธิ์และสิทธิการครอบครองที่ดินอย่างเป็นระบบ" นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้กำหนดให้มี "การกระจายการถือครองที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากร โดยแก้ปัญหาความขัแย้งระหว่างเขตพื้นที่ป่าทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของประชาชน รับรองสิทธิชุมชนในการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดมาตรการเพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์อย่างเป็นธรรม การกระจายการถือครองที่ดินในขนาดที่เหมาะสมต่อการประกอบอาชึพเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ปรับระบบเอกสารสิทธิการถือครองที่ดินประเภทต่าง ๆ ให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่ไม่มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้ รวมทั้ง ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะ เพื่อการประกอบอาชีพสำหรับประชาชน และเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง" ด้วยการนี้ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ขึ้น มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเกิดความเป็นเอกภาพ มีกรอบแนวทางที่ชัดเจนภายใต้การกำกับควบคุมของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ โดยบูรณาการการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และภูมิสังคม ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ สคทช. จึงได้ดำเนินการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2566 - 2580) เพื่อเป็นกรอบนโยบายและทิศทางหลักระยะยาวสำหรับการบริหารจัดการเชิงนโยบาย ซึ่งกรอบนโยบายหลักระยะยาว 15 ปี ประกอบด้วย นโยบาย 4 ด้าน ได้แก่2
- การสงวนหวงห้ามที่ดินรของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ
- การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
- การบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบนโยบายหลัก ระยะ 15 ปี ได้มีการแปลงไปสู่การปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้เป็นไปอย่างเหมาะสมสิดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเชิงรุก และสามารถแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินได้อย่างเป็นรูปธรรม โดย สคทช. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งเป็นแผนระยะกลางที่นับเป็นก้าวที่สองของของการบริหารจัดการเชิงนโยบายสำหรับเป็นกรอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่กำหนด โดยการจัดทำแผนฯ ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันวิเคราะห์กลุ่มประเด็นปัญหาสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วน ในระยะ 5 ปีแรก ได้แก่ ประเด็นเรื่องการรักษาสมดุลระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับดิน การแข่งขันการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดิน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดิน และการขาดความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน โดยกลุ่มประเด็นปัญหาเหล่านี้นำมาซึ่ง 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ3
- การสงวนหวงห้ามที่ดินรของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ
- การส่งเสริมความยั่งยืนของการจัดการที่ดินและระบบนิเวศ
- การสร้างดุลยภาพของการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดินตามศักยภาพ
- การพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดิน
- การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม
- การบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
โดยมุ่งหวังให้มีการใช้ประโยชน์อย่างมีดุลยภาพและความคุ้มค่า การเสริมสร้างขีดความสามารถของเกษตรกร การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการจัดการที่ดินอย่างเป็นระบบ มีศักยภาพสูง และมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานอย่างเข้มแข็งเพื่อให้เกิดคสวามเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าการก้าวเดินในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ จะมีอุปสรรคและความท้าทายในรูปแบบต่าง ๆ แต่ในทุกการก้าวนเดินนั้น ได้มีกรอบทิศทางที่เป็นเข็มทิศในการมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการขับเคลื่อน โดยอาศัยการบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้รับรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายและแผน เพื่อให้การก้าวเดินในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเป็นไปอย่างมีเอกภาพ มั่นคง และยั่งยืน นำมาซึ่งความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนคนไทยทุกคนต่อไป ดังคำขวัญ สคทช. ที่ว่า "บริหารจัดการที่ดิน ประชาชนอยู่กินยั่งยืน"
อ้างอิง
1 คำปราศัยมอบนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เนื่องในงานสัมมนานโยบายการบริหารจัดการที่ดินของประเทศไทย และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจภารกิจของ สคทช. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
2 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2565). (ร่าง) นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566-2580)
3 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2565). (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566-2570)