โดย นายสุริยา ศรียะพงศ์
นิติกรชำนาญการพิเศษ
กองกฎหมาย กลุ่มงานกฎหมายและระเบียบ
คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้กำหนดมาตรการเรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 (5) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 25621 มาตรการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐดังกล่าว ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) มีหน้าที่และอำนาจพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ตามมาตรการที่ คทช. กำหนด หากราษฎรโต้แย้งสิทธิกับรัฐว่าได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนทางราชการสงวนหวงห้ามไว้ ก็ให้ราษฎรยื่นคำร้องต่อ คพร.จังหวัด เพื่อดำเนินการพิสูจน์สิทธิตามมาตรการที่ คทช. กำหนด หรือหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดเข้าครอบครองทำประโยชน์ในเขตที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือไม่ก็ตาม ให้นำเรื่องเข้าพิจารณาใน คพร.จังหวัด ด้วยเช่นกัน2 ซึ่งในการพิจารณาของ คพร.จังหวัด ในบางจังหวัดได้พิจารณา เรื่อง การออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่ราษฎรอ้างความเป็นที่งอกที่มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับพื้นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน จึงจำเป็นที่ คพร.จังหวัด ควรรู้ถึงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาความเป็นที่งอกริมตลิ่งให้ถูกต้องและรอบคอบเพื่อให้พิจารณาการพิสูจน์สิทธิในเขตที่ดินของรัฐเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายที่กำหนดไว้
คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) ดำเนินการพิสูจน์สิทธิการครอบครองของราษฎรในเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งที่ดินของรัฐนั้น หมายถึง ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท เช่น ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สงวนหวงห้ามของรัฐ ที่สาธารณประโยชน์ และที่ราชพัสดุ เป็นต้น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตามนัยมาตรา 1304 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่มิได้หมายความรวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน3 ตามนัยมาตรา 1334 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนของที่งอกนั้น หมายความว่า ที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้นเวลาที่น้ำขึ้นปกติทั่วไปท่วมไม่ถึง ซึ่งที่ดินที่เป็นที่งอกนั้นจะมาจากเอกสารสิทธิของเอกชนหรือเป็นที่งอกออกจากที่ดินของรัฐที่ส่วนราชการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเป็นผู้ดูแลก็ได้ โดยที่ดินแปลงใดที่งอกออกจากเอกสารสิทธิของบุคคลย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 หากมีการนำเอาดินลูกรัง ดินดาน หรือดินประเภทอื่นที่ใช้ในการถมที่ดินมาถมพื้นที่ดังกล่าวทำให้ลำน้ำแคบลงเป็นการกระทำโดยฝีมือมนุษย์ หาใช่ที่งอกตามธรรมชาติไม่ และไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การถมดังกล่าวเป็นการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์โดยชัดแจ้ง4
หากที่ดินในเขตที่ดินของรัฐที่ราษฎรอ้างว่าเป็นที่งอกนั้น มีความคาบเกี่ยวกับที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2)5 อยู่ด้วย ควรพิจารณานำเข้า คพร.จังหวัด เพื่อพิสูจน์สิทธิต่อไป โดยการพิสูจน์สิทธินั้นอาจต้องใช้ภาพถ่ายทางกากาศในการตรวจสอบ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่พิพาทที่ขอออกโฉนดที่ดินแต่ละช่วงปี พ.ศ. ที่ทางราชการมี ว่าเป็นที่งอกตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างจริงหรือไม่ รวมทั้งอาจต้องมีการเจาะชั้นดินพิสูจน์ด้วย และที่สำคัญ หากที่ดินที่ออกโฉนดไปแล้วนั้นออกในเขตพระราชกฤษฎีกาหวงห้าม ยิ่งต้องนำเรื่องเข้า คพร.จังหวัด พิจารณาตรวจสอบ หากตรวจแล้วเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบหรือออกโดยคลาดเคลื่อนจะได้แจ้งกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินที่ออกไปแล้วได้ และในการพิจารณาของศาลฎีกา ตลอดทั้งคำวินิจฉับของคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีไม่เป็นที่งอกนั้นมีด้วยกันหลายกรณีที่สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาของ คพร.จังหวัดได้ เป็นต้นว่า6
- ท้องทางน้ำที่ตื้นเขินจนติดกับที่ดินที่อยู่ริมตลิ่ง ไม่เป็นที่งอก
- ร่องน้ำที่ตื้นเขินเนื่องจากประชาชนนำสิ่งของไปทิ้ง ไม่เป็นที่งอก
- ที่ดินที่ถมลงไปในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่เป็นที่งอก
- หนองสาธารณะตื้นเขินขึ้นเสมอกับระดับที่ดินขอบหนอง ไม่เป็นที่งอก แต่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
- ลำคลองที่ถมเป็นถนน ไม่เป็นที่งอก
"ที่งอกริมตลิ่ง" ที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามมาตรา 1304 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติจนกว่าจะออกกฎกระทรวง และปฏิบัติการอย่างอื่นตามที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กำหนดไว้แล้ว
กรณีอุทิศที่ดินให้เป็นถนนสาธารณะแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินดังกล่าว ที่งอกนั้นย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย แต่หากกรณีเกิดที่งอกแล้วได้อุทิศที่ดินให้เป็นถนนสาธารณะเฉพาะส่วนในที่ดิน หาทำให้ที่งอกตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่
ตัวอย่างคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดที่กล่าวถึงข้างต้น เช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7435/2540 ที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินที่งอกออกไปจากริมตลิ่งของที่ดินโจทย์ตามธรรมชาติ แต่เป็นทางน้ำที่ตื้นเขินเพราะกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน เมื่อลำรางที่กั้นระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินโจทย์ตื้นเขินและน้ำท่วมไม่ถึง ลำรางที่ตื้นเขินจึงติดกับที่ดินของโจทย์ ที่ดินพิพาทจึงเป็นท้องทางน้ำที่ติ้นเขินแล้วขยายเข้ามาติดที่ดินของโจทย์ จึงไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่ง ตามความนัยมาตรา 1308 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทย์จึงมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4930/2523 ที่ดินของโจทย์ด้านทิศตะวันออกจดที่ดอนไม่ได้จดแม่น้ำ ที่ดินของโจทย์ไม่ได้เกิดที่งอกริมตลิ่ง หากแต่เป็นที่งอกที่เกิดจากที่ดินนอกแนวเขตที่ดินของโจทย์ ที่งอกดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2523 ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึง ที่ดินที่งอกไปจากตลิ่ง มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง การที่หนิงน้ำสาธารณะกลายสภาพเป็นที่ตื้นเขินทั้งแปลงเช่นนี้ แม่ต่อมาพลเมืองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยโจทย์เข้าทำนาแต่ผู้เดียว ถ้ายังมิได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้โจทย์จะได้ครอบครองมาเกิน 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2490 (ประชุมใหญ่) ที่ดินของเอกชนที่ถูกน้ำเซาะพังจนกลายสภาพเป็นทางน้ำแล้ว ย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม่ต่อมาที่ดินจะกลับงอกเติมขึ้นใหม่ จะให้ได้กรรมสิทธิ์ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการได้กรรมสิทธิ์ เจ้าของเดิมจะอ้างเอาเฉย ๆ ไม่ได้
ดังนั้น การออกโฉนดที่ดิน โดยอ้างความเป็นที่งอกริมตลิ่ง จึงต้องพิจารณาให้เห็นถึงความเป็นที่งอกที่ได้เกิดขึ้นจากการที่สายน้ำพัดพาดินจากที่อื่นแหล่งอื่นมาทับถมกันตามธรรมชาติจนก่อเกิดเป็นที่งอกขึ้นมา มิใช่การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้นำดินลูกรัง ตินดาน หรือดินประเภทอื่นที่ใช้ในการถมที่ดิน มาทับถมจนเกิดเป็นที่งอกขึ้น ที่ดินที่นำมาทับถมเองจนเกิดเป็นที่งอกนั้น เป็นการกระทำโดยฝีมือมนุษย์ หาใช่เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติไม่ รวมถึงกระบวนการในการพิสูจน์สิทธืการครอบครองที่ดินในเขตที่ดินของรัฐ เพื่อให้เกิดความชัดแจ้งในการพิสูจน์สิทธิ อาจจะต้องใช้ภาพถ่ายทางอากาศหรือการเจาะชั้นดินพิสูจน์ด้วย เพื่อให้เป็นหลักเกณฑ์และเป็นแนวทางในการพิจารณาของ คพร.จังหวัด และราษฎรที่ใช้สิทธิในการขอพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินในเขตที่ดินของรัฐ ตามมาตรการของ คทช. เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน บทความทางวิชาการฉบับนี้ จึงได้อธิบายความเป็นที่งอกริมตลิ่งและไม่เป็นที่งอกริมตลิ่ง ในการพิสูจน์สิทธการครอบครองที่ดินในเขตที่ดินของรัฐให้ผู้อ่านได้เข้าใจอย่างแท้จริง
อ้างอิง
1 พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 49 ก (14 เมษายน 2562).
2 คำสั่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่ 1/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และเพิ่มเติมองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการ สั่ง ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2564.
3 ประมวลกฎหมายที่ดิน ใน พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 71 ตอนที่ 78 (ฉบับพิเศษ) (30 พฤศจิกายน 2497).
4 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 169 ตอนที่ 42 (8 เมษายน 2535).
5 เรื่องเดียวกัน
6 หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ สร 0601/378 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2556 และระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา เข้าถึงเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2565 จาก http://deka.supremecourt.or.th/