การยกระดับความร่วมมือของหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ...

โดย นางสาวกัญญารัตน์ บุญนำ1

นางสาวเจนจิรา เกษสกุล2

กองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน

การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เป็นการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562 ในประเด็นการปรับปรุงระบบที่ดินทำกินและลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน โดยการจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกรตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ การกระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รุกล้ำและมีมาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในครอบครองของผู้ที่มิใช่เกษตรกรและผู้ยากจน3 ซึ่งเป็นไปตามความในมาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ คทช. มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงรูปแบบการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ หรือรูปแบบในลักษณะอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คทช. กำหนด4 โดยกระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ เป็นการนำที่ดินของรัฐที่มีผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ และ (2) การจัดระบบการใช้ประโยชน์ เป็นการนำที่ดินของรัฐที่ไม่มีผู้ครอบครองมาจัดระบบการใช้ประโยชน์แก่ผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่ไม่พอเลี้ยงชีพ

ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนจำเป็นต้องมีระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการดำรงชีพของประชาชนในพื้นที่ ดังคำขวัญที่ว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - 2509) สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่มีต่อประชาชนมาอย่างช้านาน นอกจากนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ได้ประเมินภาพรวมของบริบทและสถานะของทุนทางสังคมของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยการกระจายการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและเมือง สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงรายได้ ความมั่งคั่ง และเชิงพื้นที่เพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ กระจายโอกาสในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ โดยกองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน (กสร.) มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าวจึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันดำเนินการจัดการระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานให้กับประชาชนในพื้นที่ คทช. อย่างเร็วที่สุด ก่อเกิดเป็นความร่วมมือในรูปแบบของการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. โดยมีข้อตกลงและขอบเขตของความร่วมมือในการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย เพื่อร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินงาน บูรณาการวางแผนพัฒนาพื้นที่ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ซึ่งมีหน่วยงานร่วมกันทั้งหมด 22 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการพัฒนาชุมชน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค กรมทางหลวงชนบท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยแบ่งกรอบแนวทางการปฏิบัติงานออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ อำนวยความสะดวก ประสานงานสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้แก่หน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง

กลุ่มที่ 2 หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ร่วมกำหนดพื้นที่เป้าหมาย สนับสนุนข้อมูลในพื้นที่และร่วมวางแผนกำหนดแผนงานเพื่อพัฒนาพื้นที่

กลุ่มที่ 3 หน่วยงานพัฒนา ร่วมวางแผนกำหนดแผนงาน จัดหาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเศรษฐกิจฐานราก ออกแบบวางผังการใช้พื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยที่ทำกิน ปรับปรุงบำรุงดิน จัดทำทะเบียนบ้านและจัดทำข้อมูลผังเมืองในการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ คทช.

จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ถือเป็นการยกระดับความร่วมมือของหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการกำหนดแนวทางการพัฒนาในพื้นที่ คทช. ตามภารกิจให้มีการปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน


อ้างอิง

1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริการการจัดการที่ดิน กลุ่มงานส่งเสริมความร่วมมือ

2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริการการจัดการที่ดิน กลุ่มงานส่งเสริมความร่วมมือ

3 คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 186 ง (25 กรกฎาคม 2562).

4 พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 49 ก (14 เมษายน 2562).


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint