ความก้าวหน้าตลอดระยะเวลา 2 ปี ของการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ...
โดย นายอนุวัตร จินตกสิกรรม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
กองยุทธศาสตร์และแผน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. เป็นหน่วยงานระดับกรมสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ตามที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 25621 เพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อความยั่งยืน และส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยตามคำขวัญที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้สร้างการรับรู้ร่วมกับสังคมที่ว่า “สคทช. บริหารจัดการที่ดิน ประชาชนอยู่กินยั่งยืน”
สคทช. ถือเป็นหน่วยงานจัดตั้งขึ้นใหม่จากความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และเร่งรัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ผ่านการดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของพี่น้องเกษตรกร รวมถึงป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในความครอบครองของนายทุนที่มิใช่เกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนประสบความสำเร็จและก้าวหน้ามาเป็นลำดับ2
นอกจากการดำเนินงานข้างต้นแล้ว สคทช. ยังมีภารกิจในการเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินของรัฐ รวมทั้งการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ3 โดยตลอดระยะเวลา 2 ปี แห่งการสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งและความหวังของประเทศชาติและประชาชน ในการเสริมสร้างความเป็นเอกภาพด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้การบูรณาการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างแท้จริง4 ซึ่งที่ผ่านมา สคทช. สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและหุ้นส่วนความร่วมมือทุกภาคส่วน จนเกิดเป็นผลงานที่แสดงถึงความก้าวหน้า และบางส่วนเกิดเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ดังต่อไปนี้
- นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ให้ความเห็นชอบนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) เพื่อเป็นกรอบนโยบาย และทิศทางหลักในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศอย่างบูรณาการ ในระยะ 15 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และเป็นเชิงรุก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ รวมถึงสามารถสร้างความสมดุลและยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยประเด็นนโยบายหลัก 4 ด้าน ได้แก่ (1) การสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ (2) การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด (3) การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และ (4) การบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ โดยมีทั้งหมด 19 ตัวชี้วัด 11 แนวทางการพัฒนาหลัก 17 แผนงานที่สำคัญ5
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแปลงนโยบายและแผนระยะ 15 ปี ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วข้างต้นไปสู่การปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินให้เป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี สคทช. จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2570) เสนอให้ คทช. พิจารณา และได้รับความเห็นชอบจาก คทช. เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 เพื่อเป็นแผนระยะปานกลาง สำหรับเป็นกรอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่กำหนดร่วมกันต่อไป6
- การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ที่ได้อนุมัติหลักการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวมโดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช. กำหนดในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการดำเนินงานผ่านคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด)
ผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในภาพรวม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2565 สามารถกำหนดพื้นที่เป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 1,491 พื้นที่ ใน 70 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 5,792,145 – 1 – 71.75 ไร่ ครอบคลุมที่ดินของรัฐ 9 ประเภท ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ นิคมสหกรณ์ (13 นิคม 14 ป่าสงวน) และที่ดินสงวนเพื่อกิจการนิคมในนิคมสร้างตนเอง ในจำนวนดังกล่าวสามารถจำแนกผลการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน ได้ดังนี้
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สคทช. ให้ความสำคัญกับการสานพลังความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในหลากหลายมิติ เช่น การยกระดับให้สหกรณ์เป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ คทช.7 การพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ที่เกี่ยวข้องภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 22 หน่วยงาน8 การพัฒนาตัวชี้วัดประเมินความสุขมวลรวมชุมชนในพื้นที่ คทช. (GCH) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวัดผลและปรับปรุงการดำเนินงานในมิติต่าง ๆ ได้แก่ ความมั่นคงของที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สภาพแวดล้อมของชุมชน (สาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่ คทช.) การพัฒนาอาชีพและการส่งเสริมกระบวนการสหกรณ์ และรายได้และคุณภาพชีวิต รวมถึงการมุ่งหาแนวทางการสร้างมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับการจัดที่ดินสามารถนำเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินหรือหนังสือ/เอกสารให้ใช้ที่ดินที่ได้รับจากภาครัฐไปใช้เป็นหลักประกันการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการประกอบอาชีพได้9 เป็นต้น
- การพิสูจน์สิทธิเพื่ออำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนและรักษาผลประโยชน์สาธารณะ
ภารกิจด้านนี้ของ สคทช. เป็นการดำเนินการตามมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ และเรื่องขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานอ่านภาพถ่ายทางอากาศ โดยดำเนินงานผ่านกลไกระดับคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) และคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ ด้วยการพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ยุติว่าประชาชนได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน แปลงพิพาทก่อนการเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามแนวทางที่เหมาะสม ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม10
ผลการพิสูจน์สิทธิเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน มีเรื่องประชาชนโต้แย้งสิทธิเข้าสู่การพิจารณาของ คพร.จังหวัด จำนวน 11,468 ราย ในพื้นที่รวม 15,204 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 79,833 ไร่ โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
- การแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ
สคทช. โดยคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ สามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาความทับซ้อนแนวเขตที่ดินของรัฐ โดยมีความคืบหน้าผลการดำเนินงานใน 3 กลุ่มจังหวัด ดังนี้
กลุ่มจังหวัดที่ 1 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) พื้นที่กลุ่มที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี
กลุ่มจังหวัดที่ 2 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) พื้นที่กลุ่มที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง) ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี
กลุ่มจังหวัดที่ 3 คทช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 มีมติเห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) พื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา (ยกเว้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ และ อุบลราชธานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
- การปรับปรุง แก้ไข และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ให้ความเห็นชอบการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ โดยมีผลการดำเนินงานและสาระสำคัญโดยสรุปดังตารางที่ 3
- การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
สคทช. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินด้วยระบบข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเร่งดำเนินการใน 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อกำกับดูแลข้อมูลด้านที่ดินให้ได้มาตรฐานตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ และจัดทำบัญชีข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (Land Accounting) การเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเครือข่ายข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดินภาครัฐ และพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับการวิเคราะห์และวางแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ และการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ โดยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกัน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน
ในระยะต่อไป สคทช. ยังคงมุ่งมั่นและเดินหน้าเพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยการบูรณาการและสานพลัง ทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันยกระดับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศภายใต้กรอบทิศทางหลักเชิงนโยบายในระยะ 15 ปี และร่วมกันเดินหน้าประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อส่งต่อนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยทุกคนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
อ้างอิง
1 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2564, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 11 ก (10 กุมภาพันธ์ 2564)
2 ปาฐกถาพิเศษของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เนื่องในงานสัมมนานโยบายการบริหารจัดการที่ดินของประเทศไทย และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ภารกิจของ สคทช. ในวาระครบรอบ 1 ปี วันคล้ายวันสถาปนา สคทช. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2565 จาก https://siamrath.co.th/n/321709
3 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2564
4 พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 49 ก (14 เมษายน 2562)
5 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. (2566). นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) ฉบับรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา
6 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. (2565). แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2570)
7 ปาริชาติ อินสว่าง. (2566). การยกระดับ – ปรับเปลี่ยน: จากผู้ว่าฯ: สู่ สหกรณ์ ในพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบาย คทช.
8 กัญญารัตน์ บุญนำ และเจนจิรา เกษสกุล. (2566). ยกระดับความร่วมมือในพื้นที่ คทช. เพื่อประชาชนอยู่กินยั่งยืน
9 อณุภรณ์ วรรณวิเศษ. (2566). สคทช. กับแนวทางการสร้างมูลค่าที่ดินของรัฐ เพื่อจัดการปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
10 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2565). คู่มือการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ฉบับประชาชน, หน้า 4 – 8