บทความแนะนำหนังสือและงานวิจัย (Book & Research Review) เรื่อง เศรษฐกิจที่ดินของประเทศไทย: ปริทัศน์สถานภาพความรู้
โดย นายอนุวัตร จินตกสิกรรม1
นายอรรถพันธ์ ว่องรชตไพศาล2
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ
หนังสือเรื่อง “เศรษฐกิจที่ดินของประเทศไทย: ปริทัศน์สถานภาพความรู้” ของ อภิวัฒน์ รัตนวราหะ3 เป็นผลงานจากโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2556 – 2557 มีวัตถุประสงค์หลักในการประมวลความรู้พื้นฐานจากงานเขียนและงานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ดินของประเทศไทย เพื่อระบุช่องว่างความรู้ด้านเศรษฐกิจที่ดินที่เป็นประเด็นสำคัญซึ่งควรส่งเสริมให้มีงานวิจัยที่สามารถประยุกต์และต่อยอดในการสร้างแนวทางการวางนโยบายสาธารณะและแนวทางการบริหารจัดการที่ดินที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ประกอบด้วยเนื้อหาสาระสำคัญจำนวน 4 บท ได้แก่ บทที่ 1 บทนำ บทที่ 2 เศรษฐกิจที่ดินในป่าไม้และชนบท บทที่ 3 เศรษฐกิจที่ดินในเมือง และบทที่ 4 ประเด็นวิจัยในอนาคต4 ซึ่งในบทความแนะนำหนังสือเรื่องนี้จะนำทุกท่านไปทำความเข้าใจเนื้อหาภาพรวมของหนังสือว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอะไรบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมจะได้ไปหาอ่านหนังสือเล่มนี้ฉบับเต็มต่อไปได้
ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้นิยามคำว่า “เศรษฐกิจที่ดิน” ที่ใช้ในการกำหนดขอบเขตของการศึกษาไว้ คือ ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจระหว่างหน่วยเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากที่ดินในฐานะที่เป็นทรัพย์สินและปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตและการผลิต ครอบคลุมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างที่ดินกับหน่วยเศรษฐกิจทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครัวเรือน ผู้ประกอบการ และองค์กร รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยเศรษฐกิจเหล่านั้นในการถือครองที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงการโอนและแลกเปลี่ยนซื้อขายสิทธิในที่ดิน5
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนใช้แนวทางการปริทัศน์สถานภาพความรู้ (State of Knowledge) ด้านเศรษฐกิจที่ดินของประเทศไทย โดยอาศัยการทบทวนเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลในเอกสารและสิ่งตีพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและที่ดิน เพื่อนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ประเด็นที่เป็นบทสรุปและข้อเสนอแนะในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ ครอบคลุมประเด็นเชิงเศรษฐกิจของที่ดินทั้งในพื้นที่ป่าไม้และชนบท รวมถึงพื้นที่เมือง โดยเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่เริ่มมีแนวคิดในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นหลัก ร่วมกับการทบทวนเศรษฐกิจที่ดินในช่วงก่อนและหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ดินในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว6
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้นำเสนอวิวัฒนาการของบทบาทที่ดินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีวิวัฒนาการไปตามการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคมของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย โดยแบ่งได้เป็น 3 แนวคิด ดังแสดงให้เห็นโดยสรุปในตารางด้านล่าง
หนังสือได้นำเสนอภาพรวมของการปริทัศน์สถานภาพองค์ความรู้จากงานวิจัยและงานเขียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ดินของประเทศไทยออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เศรษฐกิจที่ดินในป่าไม้และชนบท (บทที่ 2) และเศรษฐกิจที่ดินในเมือง (บทที่ 3) เนื่องจากมีมุมมองที่แตกต่างกันในหลายประเด็น กล่าวคือ ที่ดินในชนบทและป่าไม้ มีบทบาทในฐานะเป็นวัตถุดิบถูกใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ประโยชน์และมูลค่าของที่ดินในชนบทจึงขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและระยะทางถึงตลาด ส่วนที่ดินในเมืองถูกมองว่ามีบทบาทในฐานะที่ตั้งและเริ่มมีบทบาทในฐานะสินค้าบริโภค มักใช้เป็นที่ตั้งของกิจกรรมเศรษฐกิจในสาขาทุติยภูมิและตติยภูมิ เช่น อุตสาหกรรม การค้าและบริการ เป็นต้น ประโยชน์และมูลค่าของที่ดินจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงของที่ดินนั้นเป็นหลัก ซึ่งถูกกำหนดโดยทำเลที่ตั้งของแปลงที่ดินและการเชื่อมต่อกับโครงข่ายคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ส่งผลให้ประเภทและระดับการใช้ประโยชน์ของที่ดินในที่ดินผืนข้างเคียงมีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อการใช้ประโยชน์และมูลค่าของที่ดินในเมืองมากกว่าที่ดินในป่าไม้และชนบท อีกทั้งปัจจัยเชิงสถาบันและการเมืองในการบริหารจัดการก็มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างที่ดินในชนบทและป่าไม้กับที่ดินในเมือง
สำหรับเนื้อหาตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ (บทที่ 4) ผู้เขียนได้นำผลการทบทวนสถานภาพองค์ความรู้ในบทที่ 2 และบทที่ 3 มาวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อระบุช่องว่างด้านความรู้ที่จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ในด้านทฤษฎีและด้านนโยบายสาธารณะได้อย่างเหมาะสมและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองและเทคโนโลยี โดยได้สรุปประเด็นที่จำเป็นต้องมีการสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติมในอนาคต ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลักสำคัญ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมด้านที่ดิน กระบวนการเป็นเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการที่ดินในบริบทโลกาภิวัตน์ 7
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังชี้ให้เห็นผลกระทบของการกำหนดหัวข้อสำหรับการศึกษาวิจัยที่ไม่ทันต่อบริบทและสถานการณ์ ที่เป็นส่วนหนึ่งให้กระบวนทัศน์ในการกำหนดนโยบายและกฎหมาย รวมถึง การดำเนินงานของภาครัฐยังไม่สะท้อนต่อสภาพความเป็นจริง ทำให้เกิดปัญหาด้านประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในด้านการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งควรได้มีการศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไปในอีกหลายหัวข้อ โดยคำนึงถึงแนวโน้มและเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่น การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ การบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร การพัฒนาสิทธิในเขตปฏิรูปที่ดิน ภาษีที่ดินและทรัพย์สิน การบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน การจัดตั้งธนาคารที่ดิน และระบบการเงินเพื่อการเข้าถึงที่ดิน เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือฉบับเต็มได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจประเด็นปัญหาและสถานภาพขององค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจและที่ดินของประเทศไทยในภาพรวม สำหรับนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อ้างอิง
1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
3 รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4 อภิวัฒน์ รัตนวราหะ. (2558). เศรษฐกิจที่ดินของประเทศไทย: ปริทัศน์สถานภาพความรู้. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ: กรุงเทพฯ.
5 อภิวัฒน์ รัตนวราหะ. (2558). เศรษฐกิจที่ดินของประเทศไทย: ปริทัศน์สถานภาพความรู้, หน้า 8 – 9.
6 เรื่องเดียวกัน, หน้า 7.
7 เรื่องเดียวกัน, หน้า 249 – 262.