ภาคประชาชนกับการสนับสนุนการดำเนินงานภารกิจ คทช. ...
โดย นางสาวภัทรพร สอนบุญ1
นางสาวศศิธร อุตมะ2
กองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน
กลุ่มงานส่งเสริมความร่วมมือ
ปัญหาจำนวนประชากรในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินมีมากขึ้น ทำให้เกิดการขาดแคลนพื้นที่ทำกินและเกิดการบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่อเข้าไปตั้งถิ่นฐานและใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างประชาชนกับรัฐ ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากหน่วยงานบริหารจัดการที่ดินของรัฐยังขาดเอกภาพ และเพื่อให้การกำหนดแนวทางการพัฒนา ภารกิจ และการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงมีการตรา “พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562” และกำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ” (คทช.) เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งรวมถึงรูปแบบการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ หรือรูปแบบในลักษณะอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คทช. กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่อเข้าไปตั้งถิ่นฐานและใช้ประโยชน์นั้นเป็นปัญหาที่สะสมมายาวนานและจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงได้มีการนำนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนเข้ามาจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่ยากไร้และเกษตรกรตามหลักการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์
จากการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนทำให้ประชาชนมีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ลดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างตรงจุด แต่ประชาชนที่ได้รับสิทธิให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของข้อกำหนดและหลักเกณฑ์การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน รวมถึงหลักการของนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้เกิดการขายสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ การปล่อยเช่าและใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ตรงตามข้อกำหนดของ คทช. ดังนั้น ความสำคัญและความเร่งด่วนที่จะทำให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดิน จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ แนวทางการดำเนินการ และข้อกำหนดการใช้ที่ดิน โดยนำหลักการ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ที่มีหลายลักษณะตามบริบทของการมีส่วนร่วม ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความหมายที่กว้างขวางสามารถแยกได้เป็นหลายมุมมอง ทั้งในแง่ที่รัฐเป็นผู้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม หรือจากการที่ประชาชนมีจิตสำนึกในการเข้าไปมีส่วนร่วมเองในฐานะที่มีความเป็นพลเมือง โดยภาพรวมของการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นการกระทำของประชาชนที่ต้องการมีอิทธิพลในกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาลโดยเฉพาะในกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เพื่อนำไปสู่การประสานความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน สคทช. ได้สร้างเครือข่ายภาคประชาชน โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับภารกิจ คทช. และบทบาท สคทช. และมีประชาชนในพื้นที่ คทช. เข้าร่วม จำนวน 102 คน เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจต่อภารกิจ คทช. ให้ทราบถึงเป้าหมายที่สำคัญของการขับเคลื่อนภารกิจ คทช. ว่ามีทิศทางและแนวทางการดำเนินงานอย่างไรเพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และแผนการดำเนินงานที่ต่อยอดจากการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน คือ การมุ่งหวังที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นอาสาสมัคร คทช. โดยมีวัตถุประสงค์ให้อาสาสมัคร คทช. มีบทบาทสำคัญในฐานะ “สื่อกลาง” ทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานภาครัฐ หรือสนับสนุนความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ คทช. ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับศักยภาพ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด โดย สคทช. มีแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสร้างอาสาสมัคร คทช. เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยมีความมุ่งหวังว่า ภาคประชาชนกับการสนับสนุนการดำเนินงานภารกิจ คทช. จะเป็นการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยการมีส่วนร่วมบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการพัฒนาและจัดการตนเอง เพื่อสร้างสังคมให้มีความสามารถและศักยภาพสูงขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมต่อไป