สิทธิของคนต่างด้าว ตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ ในการถือครองที่ดินและห้องชุดของคนต่างด้าวในประเทศไทยตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ...
โดย นางสาวอณุภรณ์ วรรณวิเศษ
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจและประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังส่งผลต่อสภาพคล่องในตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ได้ทิ้งรอยแผลไว้ให้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในห้วงเวลาที่ยากลำบากดังกล่าว รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนสำคัญประการหนึ่ง คือ การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 เพื่อดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-From-Thailand Professional) และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled Professional) รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) อันจะก่อให้เกิดรายได้ต่อเนื่องแก่ประชาชนและแรงงาน ทำให้เกิดการลงทุน และทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้คนต่างด้าวถือครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ในประเทศไทย เนื่องจากการให้สิทธิในการถือครองที่ดินดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจให้มีการเข้ามาอยู่อาศัยและนำเงินมาลงทุนในประเทศ บทความวิชาการฉบับนี้จึงได้รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิการถือครองที่ดินและห้องชุดของคนต่างด้าวตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจสิทธิของคนต่างด้าว ตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ ในการถือครองที่ดินและห้องชุดของคนต่างด้าวในประเทศไทยให้ชัดเจน
การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของคนต่างด้าวในประเทศไทย
การได้มาซึ่งที่ดินหรือการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินของคนต่างด้าวในประเทศไทย ครอบคลุมรายละเอียดดังนี้
- การได้รับมรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม
มาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 24971 ระบุว่าคนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดินโดยได้รับมรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ได้มาซึ่งที่ดินนั้น (รัฐมนตรีมอบอำนาจให้อธิบดีกรมที่ดิน และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน) แต่เมื่อรวมกับที่มีอยู่เดิมจะต้องไม่เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ ตามมาตรา 87 กล่าวคือ ที่อยู่อาศัย ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่ ที่ใช้เพื่อพาณิชยกรรม ไม่เกิน 1 ไร่ ที่ใช้เพื่ออุตสาหกรรม ไม่เกิน 10 ไร่ ที่ใช้เพื่อเกษตรกรรม ครอบครัวละ ไม่เกิน 10 ไร่ ที่ใช้เพื่อศาสนา ไม่เกิน 1 ไร่ ที่ใช้เพื่อการกุศลสาธารณะ ไม่เกิน 5 ไร่ และที่ใช้เพื่อการสุสาน ตระกูลละไม่เกิน 1/2 ไร่ โดยที่ดินส่วนเกินต้องจำหน่ายภายในเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี และเมื่อได้รับมรดกแล้ว หากจะจำหน่ายที่ดินต้องขออนุญาตรัฐมนตรี
- การนำเงินมาลงทุนในประเทศไทย
มาตรา 96 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 24972 ได้ระบุถึงคนต่างด้าวซึ่งได้นำเงินมาลงทุนตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าสี่สิบล้านบาท ให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกินหนึ่งไร่ และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ซึ่งการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวตามมาตรานี้ เป็นไปตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้คนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ต้องนำเงินลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทใดประเภทหนึ่ง ได้แก่ (1) การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินหรือดอกเบี้ย (2) การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (3) การลงทุนในทุนเรือนหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และ (4) การลงทุนในกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน โดยจำนวนเงินลงทุนต้องไม่ต่ำกว่าสี่สิบล้านบาทและต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่าห้าปี ทั้งนี้ บริเวณที่ดินที่อนุญาตให้คนต่างด้าวได้มาต้องอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง และต้องอยู่นอกเขตปลอดภัยในราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร และถ้าคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว กระทำผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จะต้องจำหน่ายที่ดินในส่วนที่ตนมีสิทธิภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวอธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจในการจำหน่ายในที่ดินนั้นและถ้าไม่ใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยภายในกำหนดเวลาสองปีนับตั้งแต่วันจดทะเบียนการได้มา อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น
- การได้รับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน
- พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520
มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 25203 ระบุว่าผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามจำนวนที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร แม้ว่าจะเกินกำหนดที่จะพึงมีได้ตามกฎหมายอื่น ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดินเลิกกิจการที่ได้รับการส่งเสริมหรือโอนกิจการนั้นให้แก่ผู้อื่น ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องจำหน่ายที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เลิกหรือโอนกิจการ มิฉะนั้นให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งนี้ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 6/2565 กำหนดให้นิติบุคคลต่างด้าวผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท สามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานและที่พักอาศัย โดยเป็นที่ดินสำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมไม่เกิน 5 ไร่ ที่ดินสำหรับเป็นที่พักอาศัยของผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการไม่เกิน 10 ไร่ ที่ดินสำหรับเป็นที่พักอาศัยของคนงานไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งที่ดินสำหรับที่เป็นสำนักงานและที่พักอาศัยจะอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ตั้งสถานประกอบการหรือไม่ก็ได้ โดยในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นพิเศษ สำนักงานจะพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป ทั้งนี้ จะต้องจำหน่ายหรือโอนที่ดินภายใน 1 ปี เมื่อหมดสภาพการเป็นผู้ได้รับการส่งเสริม
- พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522
มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 25224 ระบุว่าผู้ประกอบพาณิชยกรรมอาจได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหรือในเขตประกอบการเสรี แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบกิจการได้ตามจำนวนเนื้อที่ที่คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเห็นสมควร แม้ว่าจะเกินกำหนดที่จะพึงมีได้ตามกฎหมายอื่น ในกรณีที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเลิกกิจการหรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่น ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวต้องจำหน่ายที่ดินที่ได้รับอนุญาต ให้ถือกรรมสิทธิ์และส่วนควบกับที่ดินนั้นให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือผู้รับโอนกิจการแล้วแต่กรณี ภายในเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่เลิกหรือโอนกิจการ มิฉะนั้นให้อธิบดีกรมที่ดินจำหน่ายที่ดินและส่วนควบกับที่ดินนั้นให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดิน
- พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561
มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 25615 ระบุให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมิได้ประกอบกิจการภายในเวลาสามปี หรือหยุดประกอบกิจการภายในเวลาสามปี หรือหยุดประกอบกิจการในที่ดินดังกล่าว ผู้ประกอบกิจการนั้นต้องจำหน่ายที่ดินดังกล่าวภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแจ้งให้ทราบ มิฉะนั้นให้สำนักงานฯ มีอำนาจดำเนินการให้มีการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวแทนผู้ประกอบกิจการแล้วคืนเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่หักค่าใช้จ่ายแล้วให้แก่ผู้ประกอบกิจการ
- การได้รับสัมปทานปิโตรเลียม
มาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 25146 ระบุไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ให้คณะกรรมการปิโตรเลียมมีอำนาจอนุญาตให้ผู้รับสัมปทานถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้เท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ แม้ว่าจะเกินกำหนดที่พึงจะมีได้ตามกฎหมายอื่น โดยผู้รับสัมปทานโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการฯ ซึ่งการอนุญาตของคณะกรรมการฯ ตามมาตรานี้ให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทาน
- พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520
นอกจากการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแล้ว คนต่างด้าวยังสามารถเช่าที่ดินในประเทศไทยได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์7 กำหนดให้การเช่าอสังหาริมทรัพย์สามารถทำสัญญาเช่าได้ไม่เกิน 30 ปี และเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงสามารถต่อสัญญาได้อีกไม่เกิน 30 ปี นับแต่วันต่อสัญญา พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 25428 กำหนดให้คนต่างด้าวสามารถเช่าที่ดินโดยมีเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ หรือเกินกว่า 100 ไร่ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีกำหนดระยะเวลาการเช่าไว้เกินกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี ซึ่งผู้เช่าและผู้ให้เช่าอาจตกลงกันต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีกได้มีกำหนดไม่เกิน 50 ปี นับแต่วันที่ตกลงกัน พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 25619 กำหนดให้ต่างชาติสามารถทำสัญญาเช่าได้ไม่เกิน 50 ปี และสามารถต่อสัญญาเช่าได้ไม่เกิน 49 ปี (รวมระยะเวลาไม่เกิน 99 ปี) และพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 252210 กำหนดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสามารถให้เช่า ให้เช่าซื้อ และขายอสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการของนิคมอุตสาหกรรมโดยตรง ทั้งนี้ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการเช่า และระยะเวลาการเช่าสูงสุดไว้แต่อย่างใด
การถือครองกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างด้าวในประเทศไทย
มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 252211 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดรายละเอียดการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างด้าวและนิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าว โดยต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
- คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520
- นิติบุคคลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 97 และมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
- นิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการลงทุน
- คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าวซึ่งนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรหรือถอนเงินจากบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศหรือถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ
ทั้งนี้ มาตรา 19 ทวิ กำหนดให้อาคารชุดแต่ละอาคารชุดจะมีคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 49 ของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้น ในขณะที่ขอจดทะเบียนอาคารชุด
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การเช่าที่ดิน หรือ การถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างด้าวในประเทศไทย จะต้องมีคุณสมบัติสอดคล้องกับเกณฑ์ที่กฎหมายและระเบียบของไทยกำหนดเท่านั้น ไม่ใช่ว่าคนต่างด้าวทุกคนจะสามารถถือครองที่ดินหรือห้องชุดในประเทศไทยได้ นอกจากนั้น ยังมีการควบคุมเนื้อที่ห้องชุดเพื่อไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดมากเกินไป ทั้งนี้ หากการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การเข้ามาของคนต่างด้าวก็จะเป็นประโยชน์ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ และยังช่วยสนับสนุนการบรรลุตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน ตลอดจนนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) ประเด็นนโยบายด้านที่ 2 การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการนี้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการหลบเลี่ยงกฎหมายหรือระเบียบ อันจะส่งผลกระทบต่อการถือครองที่ดินและห้องชุดของคนไทย และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
อ้างอิง
1 พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 71 ตอนที่ 78 ฉบับพิเศษ (30 พฤศจิกายน 2497), หน้า 30.
2 พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 71 ตอนที่ 78 ฉบับพิเศษ (30 พฤศจิกายน 2497), หน้า 31.
3 พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 38 ฉบับพิเศษ (4 พฤษภาคม 2520), หน้า 9.
4 พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 41 ฉบับพิเศษ (24 มีนาคม 2522), หน้า 28.
5 พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 34 ก (14 พฤษภาคม 2561), หน้า 24.
6 พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 88 ตอนที่ 43 (23 เมษายน 2514), หน้า 16.
7 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 42 (11 พฤศจิกายน 2468), หน้า 94.
8 พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 39 ก (18 พฤษภาคม 2542), หน้า 10.
9 พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนที่ 34 ก (14 พฤษภาคม 2561), หน้า 24-25.
10 พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 41 ฉบับพิเศษ (วันที่ 24 มีนาคม 2522), หน้า 13.
11 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 67 ฉบับพิเศษ (30 เมษายน 2522), หน้า 36.