ภูมิสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการที่ดิน ...

โดย นายสกุลยุช ศรุตานนท์1

นายคณิศร เจริญศักดิ์ขจร2

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน

ข้อมูลถือเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่าและมีมูลค่าของทุกองค์กร โดยทั่วไปหน่วยงานภาครัฐใช้ประโยชน์จากข้อมูลในกระบวนการทำงานต่าง ๆ ทั้งข้อมูลภายในและภายนอก เมื่อข้อมูลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและมีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ก็สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ คาดการณ์แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผน การดำเนินการ ตลอดจนการแก้ไขปัญหา ช่วยให้มีการตัดสินใจที่แม่นยำ โดยผ่านการประมวลผลของระบบต่าง ๆ เช่น ระบบคลังข้อมูล หรือระบบช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ เป็นต้น

สำหรับข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทยนั้น นอกจากข้อมูลจะอยู่ในรูปของฐานข้อมูลสารสนเทศตามปกติแล้ว ข้อมูลหลายส่วนยังอยู่ในรูปของข้อมูลเชิงพื้นที่ หรือข้อมูลภูมิสารสนเทศ ที่ใช้ในการบริหารจัดการที่ดินได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ การวางแผนการใช้ที่ดิน การจัดทำแผนที่ เป็นต้น การประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการที่ดินช่วยให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และช่วยให้การบริหารจัดการที่ดินเป็นไปอย่างยั่งยืนและสมดุล อย่างไรก็ดี การวางแผนจัดการพื้นที่ที่มีความซับซ้อน มีการคาบเกี่ยวกับหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการและประชาชน จำเป็นที่จะต้องอ้างอิงอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงของพื้นที่เป็นเงื่อนไขหลัก แต่จากการที่มีข้อมูลปริมาณมากกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของข้อมูล ประกอบกับรูปแบบวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันในปัจจุบัน ทำให้แนวทางการบริหารจัดการข้อมูลอาจเป็นปัญหาใหญ่ของหลายหน่วยงาน อีกทั้งอาจมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน ความไม่เข้ากันของข้อมูล เนื่องจากมีการใช้ระบบการเก็บข้อมูลที่หลากหลาย ความสิ้นเปลืองของทรัพยากรในการจัดเก็บข้อมูลเกินความจำเป็น เป็นต้น การที่ต้องรวบรวมข้อมูลจากหลาย ๆ หน่วยงานในลักษณะนี้ ยิ่งทำให้การได้มาและการบริหารข้อมูลดังกล่าวมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น เช่น มีการจัดเก็บข้อมูลที่แตกต่าง หรือมีมาตรฐานของข้อมูลที่แตกต่างกัน ทำให้การพัฒนาระบบเชื่อมโยงเพื่อรวบรวมข้อมูลต้องทำตามรูปแบบเฉพาะของข้อมูล หรือมีข้อมูลที่มีหน่วยงานจำนวนหลายหน่วยงานเป็นผู้รวบรวม แต่ไม่ถูกต้องสอดคล้องกัน ทำให้ต้องมีกระบวนการตัดสินว่าจะใช้ข้อมูลของหน่วยงานใด

จากปัญหาอุปสรรคดังกล่าวข้างต้น การบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับที่ดินและทรัพยากรดินซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและกระจัดกระจายอยู่หลายหน่วยงาน จึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีความท้าทายเป็นอย่างมาก เพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ บทความนี้ขอนำเสนอตัวอย่างการบูรณาการข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาที่ดิน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้ดำเนินการ ดังนี้

ข้อมูลภูมิสารสนเทศกับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน

การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นนโยบายรัฐบาลที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดสรรที่ดินของรัฐแก่ประชาชนผู้ยากไร้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของรัฐอย่างผิดกฎหมาย ให้สามารถครอบครองที่ดินเพื่อประกอบสัมมาชีพ สร้างรายได้และเพิ่มความมั่นคงให้กับครัวเรือน สามารถส่งต่อสิทธิทำกินในพื้นที่เป็นมรดกให้กับทายาท ลดการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ มีการจัดระเบียบการเข้าใช้ประโยชน์ และส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดอย่างเป็นระบบ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในที่ดินของรัฐ 9 ประเภท ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ ที่ดินสงวนเพื่อกิจการนิคมในนิคมสร้างตนเอง ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ป่าไม้ถาวร และที่นิคมสหกรณ์ (13 นิคม 14 ป่าสงวน) โดยปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 1,582 พื้นที่ 71 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 5,888,734 ไร่ และมีการออกหนังสืออนุญาต/จัดทำสัญญาแล้ว จำนวน 499 พื้นที่ ใน 67 จังหวัด เนื้อที่รวมประมาณ 2,399,755 ไร่ (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567)

สคทช. ได้ติดตามผลการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินฯ ผ่านแอปพลิเคชันติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (https://land.onlb.go.th/landallocated/) โดยบูรณาการข้อมูลของคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน และคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ โดยมีกระบวนการทำงานดังนี้

  1. คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน (คณะอนุฯ 1) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานอนุกรรมการ และอธิบดีกรมป่าไม้เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจให้ความเห็นชอบข้อมูลที่ดิน แผนที่ขอบเขตที่ดิน ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยรายชื่อผู้ครอบครองเดิม (ถ้ามี) เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินฯ ตลอดจนให้ความเห็นชอบผลการตรวจสอบขอบเขตที่ดินตามที่คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช. จังหวัด) เสนอ และส่งมอบให้คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน และคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดดำเนินการต่อไป โดย สคทช. ได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นที่เป้าหมายจากคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินในรูปแบบ Web Services
  2. คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน (คณะอนุฯ 2) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานอนุกรรมการ และอธิบดีกรมที่ดินเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนฯ และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้ความเห็นชอบกระบวนการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนฯ โดยกรมที่ดินในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานผลการจัดราษฎรลงในพื้นที่ โดยการนำเข้า (Upload) ข้อมูล Shapefile เข้าสู่ระบบติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน
  3. คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด (คณะอนุฯ 3) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานอนุกรรมการ และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจให้ความเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดในรูปแบบของชุมชน เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร หรือรูปแบบอื่น ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินฯ โดย สคทช. ได้ดำเนินการนำเข้าข้อมูลการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดจากคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ผ่านฟังก์ชันการบันทึกข้อมูล
รูปภาพระบบติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (https://land.onlb.go.th/landallocated/)

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

ทั้งนี้ ระบบติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เป็นการนำ Advanced Geographic Information System (GIS) มาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากหลายภาคส่วนเข้าด้วยกัน ประกอบด้วยข้อมูลพื้นที่เป้าหมายจากคณะอนุฯ 1 ในรูปแบบ Shapefile ที่แสดงบนแผนที่ ได้แก่ ขอบเขตพื้นที่เป้าหมาย ประเภทที่ดิน ขนาดเนื้อที่ ค่าพิกัด ผลการออกหนังสืออนุญาต/จัดทำสัญญาให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน เป็นต้น โดยข้อมูลพื้นที่เป้าหมายจะใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการติดตามผลการดำเนินงานของคณะอนุฯ 2 ในการจัดรูปแปลงที่ดินภายในพื้นที่เป้าหมายเพื่อจัดสรรให้ราษฎรเข้าทำกิน โดยมีข้อมูลของผู้ครอบครอง เพื่อใช้จัดทำสมุดประจำตัวให้แก่ผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน และใช้เป็นข้อมูลสำหรับคณะอนุฯ 3 เพื่อเข้าดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ตลอดจนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นให้กับราษฎรในพื้นที่ต่อไป

ข้อมูลภูมิสารสนเทศกับการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ

เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐหลายฉบับ รวมทั้งมีมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายเรื่อง และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ทำให้มีแนวเขตที่ดินของรัฐจำนวนมากที่ประกาศต่างกรรมต่างวาระ มีที่มาและการจัดทำแผนที่ขนาดมาตราส่วนที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่ใช้แผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 : 50000 เป็นแผนที่ฐาน ซึ่งบางหน่วยงานไม่มีการสำรวจในภาคสนามหรือสำรวจได้ไม่ทั่วถึง จึงเกิดความคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่ ประกอบกับความไม่ชัดเจนของขอบเขตพื้นที่ป่า เนื่องจากเทคโนโลยีการจัดทำแผนที่ในอดีตไม่สามารถกำหนดรายละเอียดขอบเขตพื้นที่ป่าได้อย่างชัดเจน รวมถึงการขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจระบบภูมิสารสนเทศ ทำให้ปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐที่ทับซ้อน และแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ที่ไม่ชัดเจน เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งระหว่างภาครัฐด้วยกัน หรือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และส่งผลให้เกิดข้อพิพาทเรื่องแนวเขตมาโดยตลอด

ปัจจุบันหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และนำมาสู่นโยบายการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ “วันแม็ป” (One Map) ซึ่งมีเป้าหมายคือการนำเส้นแบ่งเขตแผนที่ที่ไม่ตรงกันของหน่วยงานรัฐมาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นเส้นเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินทับซ้อน ภายใต้หลักการ “หนึ่งพื้นที่ หนึ่งหน่วยงานรับผิดชอบ” หรือ One Land, One Law มีคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ คทช. เป็นกลไกหลักบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ จำนวน 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมพัฒนาที่ดิน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) ต้องอาศัยข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย3

  • เอกสารทางกฎหมาย เช่น แผนที่ท้ายประกาศ และแผนที่ท้ายกฤษฎีกาของที่ดินของรัฐแต่ละประเภท เป็นต้น
  • แนวเขตต่าง ๆ ในรูปข้อมูลเชิงเส้น (Vector) ระบบพิกัด UTM (Universal Transverse Mercator) และหมุดหลักฐานอ้างอิง (Datum)
  • แผนที่ภูมิประเทศ ชุด L708, L7017 และ L7018 ภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายจากดาวเทียม เป็นข้อมูลในรูปแบบราสเตอร์ (Raster) ในรูปแบบไฟล์ที่มีพิกัด Grid, IMG, Mrsid หรือ GeoTiff ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศออร์โธสี (Orthophoto Map) ภาพถ่ายทางอากาศเชิงเลข (DMC)
รูปภาพระบบบริหารจัดการข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) (https://onemap.onlb.go.th/)

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

ดังนั้น เพื่อให้การทำงานบนข้อมูลจำนวนมากข้างต้นสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ สคทช. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) ในการจัดการข้อมูลทั้งกระบวนการ และสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ทุกขั้นตอนของการแก้ไขเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ รวมทั้งใช้เป็นฐานข้อมูลจัดเก็บข้อมูลเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและให้การรับรองแล้ว เพื่อใช้เป็นเส้นอ้างอิง (Reference) สำหรับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการแก้ไขแผนที่ท้ายกฎหมายให้ถูกต้องตรงกัน โดยสามารถตรวจสอบและยืนยันด้วยกลไกการทำงานของบล็อกเชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ และดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

บทสรุป

จากตัวอย่างที่นำเสนอ แสดงให้เห็นว่าภูมิสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการที่ดิน ทั้งในด้านการสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐและการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการกระจายการถือครองที่ดิน การขาดระบบข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ปัญหาและกำหนดแนวทางการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทั้งในด้านผลผลิตและรายได้ของประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูล รวมถึงการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการบูรณาการทางด้านข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับที่ดินและทรัพยากรดินที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้สามารถบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ


อ้างอิง

1 ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

2 นักวิชาการภูมิสารสนเทศ กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศประยุกต์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

3 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ. (2559). การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 ONE MAP คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map), หน้า 15 - 16.


epetitions

complaint

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow
Slide