การจัดทำบัญชีข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Accounting) สามารถนำไปสู่การบูรณาการวางแผนบริหารจัดการและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามศักยภาพของที่ดิน ...
โดย นายอรรคภพ รอดจินดา1
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน กลุ่มงานพัฒนาเครือข่ายและนวัตกรรม
การได้มาซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ในการวางแผนหรือตัดสินใจนั้น ปัจจุบันได้มีการนำระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม (The System of Environmental-Economic Accounting: SEEA) มาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการวางแผนเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นองค์รวม ที่คำนึงถึงความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ในระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมครอบคลุมหลากหลายสาขา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์กายภาพ ภูมิศาสตร์ บัญชีประชาชาติ และสถิติทางการของประเทศ เป็นต้น2
ระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม (The System of Environmental-Economic Accounting: SEEA) เป็นมาตรฐานการจัดทำสถิติที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์การจัดทำข้อมูลให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นระบบบัญชีประชาชาติที่คิดรวมต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรอบงานด้านสถิติที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อใช้ในการวัดค่าทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจร่วมกัน3 โดย UN Statistics Commission มีมติยอมรับให้เป็นมาตรฐานสากล และขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินงานในหลายประเทศ โดยในประเทศไทยนั้นมีขอบเขตการดำเนินงาน ประกอบด้วย
- การจัดทำบัญชีที่ดิน (Land Accounts) เพื่อเป็นบัญชีพื้นฐานสำหรับการจัดทำบัญชีที่ดิน โดยจัดทำตามกรอบกลางการจัดทำระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม (SEEA-Central Framework)
- การจัดทำบัญชีทรัพยากรไม้ (Timber Accounts) เพื่อเป็นบัญชีพื้นฐานสำหรับการจัดทำบัญชีป่าไม้ โดยจัดทำตามกรอบกลางการจัดทำระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม (SEEA-Central Framework)
- การจัดทำบัญชีป่าไม้ (Forest Accounts) เพื่อศึกษาระบบนิเวศจากป่าไม้ตามกรอบการจัดทำระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมด้านระบบนิเวศ (SEEA Ecosystem Accounting)
การจัดทำบัญชีข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Accounting) มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการที่ดินของประเทศ โดยนำข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศจากหน่วยงานต่าง ๆ มาประมวลผลในการประเมินสถานการณ์ที่ดินของประเทศในปัจจุบัน เพื่อกำหนดนโยบาย แผนงาน และแนวทางปฏิบัติในประเด็นสำคัญต่าง ๆ รวมถึงการนำผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์มาประมวลผล และประเมินสถานการณ์ที่ดินของประเทศล่วงหน้า โดยการนำเสนอในรูปแบบผลการวิเคราะห์ สรุปผลรายงาน สถิติข้อมูลด้านที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งในการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์นั้นจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์โครงสร้างข้อมูล รวมทั้งการทำความเข้าใจข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากส่วนงานต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมของระบบนิเวศและสถาปัตยกรรมด้านข้อมูล (System Architecture) และศึกษาข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดินที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูลระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนร่วม ส่งเสริม และพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ไปจนถึงแหล่งที่มาของข้อมูลอื่น ๆ ทั้งข้อมูลที่ยังไม่ถูกจัดเก็บและที่อยู่ในระบบฐานข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการดำเนินงานในปัจจุบัน ตั้งแต่การสร้างข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้ ระบบนิเวศข้อมูล สถาปัตยกรรมด้านข้อมูล (System Architecture) ข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดินที่ได้จากหน่วยงานต่าง ๆ จะถูกนำมารวบรวมและบริหารจัดการข้อมูล (Data Management) เพื่อออกแบบแนวทางการจัดเก็บข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูล จัดโครงสร้างข้อมูล และจัดเตรียมข้อมูลเพื่อพร้อมใช้ เพราะโครงสร้างข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมีการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องกำหนดรายละเอียดของข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างข้อมูล (Data Transformation) รวมถึงการทำความสะอาดข้อมูล (Data Cleansing) การทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องแม่นยำ (Data Correctness) และการประมวลผลข้อมูล (Data Processing) ที่จัดเก็บอยู่ในแหล่งจัดเก็บข้อมูลกลาง (Data Center หรือ Data Lake) ก่อนนำข้อมูลไปจัดเก็บในคลังข้อมูล (Data Warehouse) เพื่อจัดทำบัญชีข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Accounting) และกำหนดมาตรฐานข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ4
ข้อมูลที่ได้จากการจัดทำบัญชีข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Accounting) นั้น สามารถนำมาวิเคราะห์วางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land-use) โดยนำเอาข้อมูลมาประมวลผลให้เกิดเป็นผลลัพธ์ต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลภูมิศาสตร์หรือแผนที่นั้นมีกรรมวิธีข้อมูลหลายอย่าง เช่น นำข้อมูลมาสร้างเป็นภาพแผนที่ ตัดต่อภาพแผนที่หลาย ๆ ภาพ ย่อหรือขยายแผนที่ ทำภาพซ้อน (Overlay) เป็นต้น5 ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลจะออกมาในรูปของรายงาน แผนที่ข้อมูลสถิติ และอื่น ๆ ซึ่งทำให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีทางเลือกหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีระบบ อีกทั้งยังช่วยในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง
การจัดทำบัญชีข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Accounting) นั้น จะแสดงให้เห็นถึงสถานภาพที่ดินของประเทศไทย บัญชีข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดินของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงภาพรวมการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของที่ดินแต่ละประเภท ความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยสามารถนำไปบูรณาการประกอบการวางแผนจัดการและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามศักยภาพของที่ดิน อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านที่ดินและทรัพยากรดิน สามารถนำข้อมูลไปพัฒนาระบบสารสนเทศ ฐานข้อมูลของหน่วยงาน และรูปแบบการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลสารสนเทศด้านที่ดินและทรัพยากรดินมีความสอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน นำไปสู่การให้บริการข้อมูลกลางด้านที่ดินและทรัพยากรดินที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ สามารถดำเนินงานตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชน หน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อ้างอิง
1 นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพัฒนาเครือข่ายและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
2 ฉัตรชัย อินต๊ะทา. (2565). รู้จัก-ระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม. เข้าถึงเมื่อ 29 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.onep.go.th/รู้จัก-ระบบบัญชีเศรษฐกิจ.
3 สำนักงานสถิติแห่งชาติ. โครงการจัดทำบัญชี TSA-SEEA เขตการพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน. เข้าถึงเมื่อ 29 พฤษภาคม 2567 จาก https://statstd.nso.go.th/downloadcffile.aspx?id=136
4 คำศัพท์สำคัญของกระบวนการจัดทำบัญชีข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Accounting) ที่ผู้เขียนใช้ในบทความนี้ ได้แก่ (1) สถาปัตยกรรมด้านข้อมูล (System Architecture) หมายถึง การออกแบบและวางระบบการจัดการข้อมูล ตามลักษณะของข้อมูลและเป้าหมายในการใช้ข้อมูล (2) การจัดการข้อมูล (Data Management) หมายถึง กระบวนการของการเก็บรวบรวม การจัดเก็บ การรักษาความปลอดภัย และการใช้ข้อมูลขององค์กร (3) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างข้อมูล (Data Transformation) หมายถึง กระบวนการแปลงข้อมูลจากโครงสร้างหนึ่งไปเป็นรูปแบบหรือโครงสร้างอื่น (4) การทำความสะอาดข้อมูล (Data Cleansing) หมายถึง กระบวนการแก้ไขหรือลบข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซ้ำ หรือไม่สมบูรณ์ (5) การทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องแม่นยำ (Data Correctness) หมายถึง ความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูล (6) การประมวลผลข้อมูล (Data Processing) หมายถึง กระบวนการจัดระเบียบแบบแผนของข้อมูลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ (7) ข้อมูลกลาง (Data Center) หมายถึง ศูนย์ข้อมูลที่ออกแบบมาเพื่อรองรับฮาร์ดแวร์ หรือเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ (8) ข้อมูลเบื้องต้น (Data Lake) หมายถึง พื้นที่จัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บข้อมูลได้ทุกรูปแบบ (9) คลังข้อมูล (Data Warehouse) หมายถึง ฐานข้อมูลที่สร้างจากกระบวนการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล
5 ทรงวุฒิ เชื้ออินต๊ะ. (2549). การใช้ประโยชน์ที่ดินและศักยภาพของพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาในโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยอมพาย. เข้าถึงเมื่อ 11 ธันวาคม 2566 จากhttp://webpac.library.mju.ac.th:8080/mm/fulltext/thesis/2550/songwut_chueinta/fulltext.pdf.