การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นพันธกิจสำคัญของ สคทช. ในการบริหารและพัฒนาบุคลากรทุก ๆ สายงานให้มีศักยภาพและพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้น ...
โดย นางสาวศิญาภัสร์ ปฐมอิสราวัชร์1
นางสาววรศุลี ไกยวงศ์2
สำนักงานผู้อำนวยการ กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นส่วนราชการระดับกรม ในสำนักนายกรัฐมนตรีและเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ3 โดย สคทช. มีภารกิจในการเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินของรัฐ รวมทั้งการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ4 แรกเริ่มนั้น สคทช. มีข้าราชการเพียง 23 คน และพนักงานราชการ จำนวน 13 คน ซึ่งต่อมาได้รับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มเติมจากสำนักงาน ก.พ. จนในปัจจุบันมีกรอบอัตรากำลังข้าราชการจำนวน 98 อัตรา และพนักงานราชการ 117 อัตรา ดังนี้
ในปัจจุบันมีข้าราชการดำรงตำแหน่งจำนวน 91 ราย และพนักงานราชการดำรงตำแหน่งจำนวน 113 ราย5 และมีการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ประกอบด้วย (1) สำนักงานผู้อำนวยการ (2) กองกฎหมาย (3) กองที่ดินของรัฐ (4) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (5) กองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน (6) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน (7) กลุ่มตรวจสอบภายใน (8) กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร (9) ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต และ (10) ศูนย์บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ที่ดินและทรัพยากรดิน จะเห็นได้ว่าบุคลากรใน สคทช. นั้นมีหลากหลายสายงานและมีข้าราชการที่รับโอนจากส่วนราชการอื่นและบรรจุใหม่ จึงมีความรู้ ความชำนาญ วิธีการปฏิบัติงาน และทัศนคติที่แตกต่างกัน นอกจากนี้แต่ละส่วนงานยังมีภารกิจที่แตกต่างกัน แต่ในทุก ๆ ส่วนงานต่างต้องปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร ประกอบกับในโลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงขององค์กรด้วย ทั้งการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอกองค์กร การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร เช่น การนำเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้มากขึ้น องค์กรมีภารกิจที่ได้รับมอบหมายมากขึ้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงภายนอกองค์กร เช่น สภาพสังคมและวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งการที่องค์กรจะดำเนินภารกิจหลักให้บรรลุวัตถุประสงค์ และมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องอาศัยบุคลากรที่มีคุณภาพในการขับเคลื่อนภารกิจ บุคลากรจึงถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีบทบาทสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จขององค์กร ดังนั้น การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงานเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของบุคลากรในองค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) หมุดหมายที่ 12 มุ่งหวังให้คนไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคตมีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ โดยส่งเสริมให้คนไทยพัฒนาศักยภาพในทุกช่วงวัย6 และแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566 - 2570 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 มีนาคม 2567 โดย สำนักงาน ก.พ.7 มีเป้าหมายของการดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566 – 2570 ดังนี้
- ประชาชนและผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติราชการ
- หน่วยงานของรัฐมีการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร และการสร้างสมดุลคุณภาพชีวิตที่ดี
- บุคลากรภาครัฐมีการพัฒนาตนเอง และสามารถขับเคลื่อนภารกิจ พัฒนาองค์กร และตอบสนอง ความต้องการประชาชน
ประกอบกับแผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ8 ได้กำหนด วิสัยทัศน์ “มุ่งนำนโยบายสู่การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศบนฐานความร่วมมือที่เป็นหนึ่งเดียวเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืน” และกำหนดพันธกิจ ดังนี้
- พัฒนานโยบาย แผน และมาตรการในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
- สร้างโอกาสและการเข้าถึงการบริหารจัดการที่ดินตามศักยภาพของพื้นที่อย่างเป็นธรรม
- พัฒนากลไกและเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
- ประสานความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศสู่การปฏิบัติ
- พัฒนาสมรรถนะองค์กรและบุคลากรเพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง
โดยภายใต้แผนปฏิบัติราชการฯ มีการกำหนดกลยุทธ์ที่ 5 พัฒนาสมรรถนะองค์กรเพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงและเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน เพื่อเป้าหมายก้าวสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงและได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน บนฐานทรัพยากรมนุษย์ธรรมาภิบาลและคุณค่าของการรับผิดชอบต่อสังคม มีแนวทางการพัฒนาดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและกำลังคนที่สอดคล้องกับภารกิจขององค์กร จะเห็นได้ว่า จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566 – 2570 ของสำนักงาน ก.พ. และแผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ของ สคทช. ให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มศักยภาพของคนในประเทศ จึงส่งผลให้องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในระดับต่าง ๆ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จึงตระหนักในความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารกำลังคนและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล 4 ปี (พ.ศ. 2567 - 2570) และแผนปฏิบัติการการบริหารกำลังคนและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล 4 ปี (พ.ศ. 2567 - 2570) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลของ สคทช. และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เน้นการพัฒนาบุคลากรของ สคทช. ให้เป็นผู้ปฏิบัติงานแบบมืออาชีพ มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ มีขีดสมรรถนะสูง สามารถรองรับภารกิจสำคัญของ สคทช. ในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดินอย่างสมดุล เป็นธรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้บุคลากรมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580) มุ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์ความรู้และอัตรากำลังที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 - 2570 ของ สคทช. เพื่อกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ตอบสนองกับแนวโน้ม ทิศทาง และสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ โดยมีวิสัยทัศน์ “มุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่ความเป็นมืออาชีพ เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนภารกิจ สคทช.” และมีพันธกิจสำคัญ ดังนี้
- พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย มีธรรมาภิบาลโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (HRM)
- ส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะบุคลากรทุกระดับอย่างเป็นระบบ สู่ความเป็นมืออาชีพ ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน (HRD)
- เสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายความร่วมมือด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อบูรณาการการทำงานให้มีประสิทธิภาพ (Network)
- ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรสู่การเป็นองค์การแห่งความสุข (Quality of Work Life & Happy Workplace)
โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์ (1) ยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลสู่ความเป็นองค์กรสมรรถนะสูง (2) พัฒนาสมรรถนะบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน (3) บูรณาการความร่วมมือและสร้างศักยภาพเครือข่ายเพื่อผลักดันนโยบายและภารกิจด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน (4) พัฒนาระบบนิเวศทรัพยากรบุคคล (HR-System) มุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข ดังแผนภาพ9
ซึ่งการที่องค์กรจะก้าวไปได้ไกลอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเกิดจากบุคลากรที่มีศักยภาพด้วย ฉะนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงถือเป็นพันธกิจสำคัญของ สคทช. นำมาใช้ในการบริหารและพัฒนาบุคลากรทุก ๆ สายงานให้มีศักยภาพและพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้น เป็นการสร้างโอกาสให้บุคลากรแต่ละคนในการเพิ่มทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ สมรรถนะ ทัศนคติที่ดีในการทำงาน รวมถึงช่วยสร้างความผูกพันของบุคลากรต่อองค์กร ส่งเสริมการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายให้นำไปสู่ “การบริหารจัดการที่ดิน ประชาชนอยู่กินยั่งยืน” ต่อไป
อ้างอิง
1 นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ สำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
2 นักทรัพยากรบุคคล สำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
3 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2564, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอน 54 ก (27 สิงหาคม 2564).
4 ปาฐกถาพิเศษของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เนื่องในงานสัมมนานโยบายการบริหารจัดการที่ดินของประเทศไทย และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ภารกิจของ สคทช. ในวาระครบรอบ 1 ปี วันคล้ายวันสถาปนา สคทช. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2565 จาก https://siamrath.co.th/n/321709
5 ข้อมูลอัตรากำลัง ณ วันที่ 15 มีนาคม 2567.
6 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566 – 2570, หน้า 121 – 131.
7 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. (2567). แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566 - 2570, หน้า 1.
8 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ, หน้า 30 และหน้า 41 – 42.
9 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. แผนยุทธศาสตร์การบริหารกำลังคนและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570), และแผนปฏิบัติการการบริหารกำลังคนและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล 4 ปี (พ.ศ. 2567), หน้า 19 – 47.