10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 The Personal Data Protection Act B.E. 2562 (พ.ร.บ. PDPA) ...

โดย นายจักรพันธ์ วงษ์เวียง

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน กลุ่มงานบริหารระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 The Personal Data Protection Act B.E. 2562 (พ.ร.บ. PDPA) เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้อย่างถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา โดย พ.ร.บ. PDPA เป็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่แต่ละประเทศต่างให้ความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวในชีวิตร่างกาย ความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสาร และความเป็นส่วนตัวในเคหสถาน ทั้งนี้ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว การรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สะดวกสบายมากขึ้น เมื่ออินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทำให้แทบทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น ล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้นส่งผลให้ธุรกิจและธุรกรรมต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมากมาย ในแต่ละวันข้อมูลนับล้านถูกส่งผ่านเครือข่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันเมื่อข้อมูลต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายจึงอาจมีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้โดยละเมิดต่อบุคคลอื่น ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายหรือสูญหายของข้อมูลหรืออาจถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด และหลายครั้งก็นำมาซึ่งความเดือดร้อนรำคาญหรือสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูล ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ด้วย ดังนั้น จึงต้องมี พ.ร.บ. PDPA ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไก หรือ มาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่รวมถึงการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลขึ้น

ทั้งนี้ ประชาชนหรือเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ควรสร้างความรู้ความเข้าใจสาระสำคัญ 10 ข้อ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ดังนี้

  1. ข้อมูลส่วนบุคคล

    ข้อมูลส่วนบุคคลสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท1

    1. ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคล (บุคคลธรรมดา) นั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขประจำตัวประชาชน อีเมล บัญชีธนาคาร เป็นต้น
    2. ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่โดยสภาพมีความละเอียดอ่อนและสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสิทธิเสรีภาพหรืออาจถูกใช้ในการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ ได้แก่ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ ฯลฯ
  2. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล กับ หลักการจำกัดวัตถุประสงค์ (Purpose Limitation)

    ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับเหตุหรือฐานตามกฎหมาย ซึ่งการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ ตามกฎหมาย กล่าวคือ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องเก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอย่างจำกัด ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ก่อนหรือขณะเก็บรวบรวม (ห้ามใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์)2

  3. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล กับ หลักการใช้ข้อมูลให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น (Data Minimization)

    ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของเราเท่าที่จำเป็นภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมาย

    หลักการใช้ข้อมูลให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น (Data Minimization) คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลให้เก็บรวบรวมได้เท่าที่จำเป็นภายใต้วัตถุประสงค์ โดยต้องพิจารณาองค์ประกอบ 3 ประการ คือ เพียงพอ เกี่ยวข้อง และจำกัด เพื่อป้องกันการเก็บรวบรวมข้อมูลมากเกินไป3

  4. ความยินยอม

    ความยินยอมเป็นฐานการประมวลผลฐานหนึ่ง ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่ในการกำหนดฐานการประมวลผลให้สอดคล้องกับลักษณะการประมวลผลและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งในหลาย ๆ กรณีองค์กรอาจใช้ข้อมูลของเราได้จากฐานสัญญา (มีสัญญาต่อกัน) หรือมีประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

    ในการขอความยินยอมต้องพิจารณาดังนี้4

    1. ความยินยอมต้องขอก่อนจะมีการประมวลผล
    2. ความยินยอมต้องไม่เป็นเงื่อนไขในการให้บริการ ต้องมีอิสระ
    3. ความยินยอมต้องอยู่แยกส่วนกับเงื่อนไขในการให้บริการ
    4. วัตถุประสงค์ของการประมวลผลข้อมูลต้องเฉพาะเจาะจง
    5. ความยินยอมต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ
    6. ออกแบบทางเลือกให้สามารถปฏิเสธที่จะให้ความยินยอมได้
    7. เนื้อหาความยินยอมเข้าใจง่ายและเข้าถึงง่าย
  5. การขอความยินยอม

    การขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยคำว่าอิสระนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีทางเลือกอย่างแท้จริง (Real Choice) ดังนั้น ความยินยอมที่เป็นอิสระเป็นกรณีที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเลือกว่าจะยินยอมหรือไม่ แม้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่ให้ความยินยอมย่อมสามารถเข้ารับบริการได้

    การขอความยินยอมต้องทำโดยชัดแจ้งเป็นหนังสือหรือทำโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ โดยสภาพไม่อาจขอความยินยอมด้วยวิธีการดังกล่าวได้

    นอกจากนี้ ในการขอความยินยอมผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้อิสระในการตัดสินใจแก่เจ้าของข้อมูล ต้องไม่ถือเอาความยินยอมในการเก็บและใช้ข้อมูลเป็นเงื่อนไขในการเข้าทำสัญญาหรือการให้บริการต่าง ๆ โดยเจ้าของข้อมูลที่ให้ความยินยอมไปแล้วหากเปลี่ยนใจก็มีสิทธิจะถอนความยินยอมเมื่อใดก็ได้ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ต้องจัดช่องทางไว้ให้ถอนความยินยอมได้โดยง่ายเช่นเดียวกับการให้ความยินยอม5

  6. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิ การเก็บและใช้ข้อมูล ถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ
    1. สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบรายละเอียด (Privacy Notice)เป็นสิทธิที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทุกคนได้รับโดยไม่ต้องมีการร้องขอ โดยผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์และรายละเอียดของการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตามเพื่อให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลรู้ว่าข้อมูลของตนจะถูกนำไปใช้ทำอะไร
    2. สิทธิในการถอนความยินยอม ในกรณีที่ได้ให้ความยินยอมไว้ (Right to Withdraw Consent)กรณีที่ได้ให้ความยินยอมไว้ เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิที่จะเพิกถอนความยินยอมเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้รับคำขอการเพิกถอนจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว จะต้อง “แจ้งถึงผลกระทบ” จากการถอนความยินยอมและ “หยุดการประมวลผล”
    3. สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล (Right to Access)
    4. สิทธิขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล (Right to Data Portability)
    5. สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (Right to Objection)
    6. สิทธิขอให้ลบหรือทําลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ (Right to Erasure)เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิยื่นคำร้อง ขอลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถระบุถึงตนได้ ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด กรณีที่มีการส่งต่อหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นต่อสาธารณะแล้ว ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องดำเนินการแจ้งให้ลบข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวด้วย
    7. สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
    8. สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลเจ้าของข้อมูลมีสิทธิร้องขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลดำเนินการแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้องของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ข้อมูลถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง ข้อมูลเป็นปัจจุบันและสมบูรณ์และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด6
  7. PDPA ใช้กับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล

    PDPA ใช้กับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดโดยจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ในราชอาณาจักร และผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลอยู่นอกราชอาณาจักร

    1. ใช้บังคับกับกรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ในประเทศไทย
    2. ใช้บังคับกรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลอยู่นอกประเทศไทย หากมีกิจกรรม ดังนี้7
      1. เสนอขายสินค้าหรือบริการให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย
      2. เฝ้าติดตามเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
  8. กรณีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

    ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่แจ้งเหตุการณ์ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ชักช้า ภายใน 72 ชั่วโมง นับแต่ทราบเหตุเท่าที่จะสามารถกระทำได้ เว้นแต่การละเมิดดังกล่าวไม่มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ในกรณีที่การละเมิดมีความเสี่ยงสูงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ให้แจ้งเหตุการละเมิดให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบพร้อมกับแนวทางการเยียวยาโดยไม่ชักช้าด้วย8

  9. การจัดทำบันทึกรายการ

    ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลบันทึกรายการ เพื่อให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลและสำนักงานสามารถตรวจสอบได้ โดยจะบันทึกเป็นหนังสือหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังนี้9

    1. ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีการเก็บรวบรวม โดยให้มีคำอธิบายประเภทของข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
    2. วัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลแต่ละประเภท
    3. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ตัวแทนและเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ถ้ามี) รวมถึงช่องทางการติดต่อ
    4. ระยะเวลาการเก็บรักษาและการลบข้อมูลส่วนบุคคลประเภทต่างๆ
    5. สิทธิและวิธีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับบุคคลที่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและเงื่อนไขในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้น
    6. การใช้หรือเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอความยินยอม
    7. การปฏิเสธคำขอหรือการคัดค้านตามคำอธิบายเกี่ยวกับมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย
  10. สิทธิร้องเรียน

    เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือประกาศฯ ที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ กระบวนการร้องเรียนในการยื่นการไม่รับเรื่อง การยุติเรื่อง การพิจารณา และระยะเวลา ในการพิจารณาคำร้องเรียนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยคำนึงถึงการกำหนดให้ไม่รับเรื่องร้องเรียนหรือยุติเรื่องในกรณีที่มีผู้มีอำนาจพิจารณาในเรื่องนั้นอยู่แล้วตามกฎหมายอื่นด้วย10

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญและให้ความสนใจเกี่ยวกับหลักการ PDPA เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีหลักการเกี่ยวกับการให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งยังสร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความปลอดภัยและนำไปใช้อย่างถูกวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ดี หากศึกษาบทความนี้จะได้รับความรู้เบื้องต้น ในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างระมัดระวังปลอดภัยและรักษาผลประโยชน์ของท่านอย่างถึงที่สุด


อ้างอิง

1 วันพิชิต ชินตระกูลชัย. (2564). ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลอ่อนไหว คืออะไร มีกี่ประเภท มีอะไรบ้าง?. เข้าถึงเมื่อ 12 มีนาคม 2567 จาก https://openpdpa.org/personal-data-type/

2 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 69 ก (27 พฤษภาคม 2562)

3 แหล่งเดียวกัน.

4 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล. (2565). “ความยินยอม” ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล. เข้าถึงเมื่อ 12 มีนาคม 2567 จาก https://www.dpoaas.co.th/content/5787/

5 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2559). แนวทางการดำเนินการในการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562. เข้าถึงเมื่อ 12 มีนาคม 2567 จากhttps://www.mdes.go.th/law/detail/6045

6 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 69 ก (27 พฤษภาคม 2562).

7 แหล่งเดียวกัน.

8 PDPA Thailand. (2566). ใครต้องรับผิดชอบ? หากเกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมาย PDPA. เข้าถึงเมื่อ 12 มีนาคม 2567 จาก https://pdpathailand.com/news-article/responsible-pdpa/

9 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 69 ก (27 พฤษภาคม 2562).

10 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 69 ก (27 พฤษภาคม 2562).


epetitions

complaint

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow
Slide