“สิทธิ” ในที่ดินของรัฐหลังจากได้รับการจัดที่ดินทำกินตามนโยบาย คทช. คือโอกาสการเข้าถึงที่ดินและสิทธิประโยชน์ที่รัฐพึงจัดให้มีแก่ประชาชน สามารถประกอบอาชีพหรืออยู่อาศัยในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว ...
โดย นางสิริลักษณ์ จันทร์แจ่มศรี1
นายภิชชากรณ์ วงศ์ทองดีปี่แก้ว2
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน ในบทความนี้จะนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับ “สิทธิ” ของประชาชนในที่ดินของรัฐหลังจากได้รับการจัดที่ดินทำกินตามนโยบาย คทช. ซึ่งจะมีเนื้อหาในเรื่องของสิทธิที่ประชาชนจะได้รับหลังจากผ่านเกณฑ์การคัดเลือกให้เป็นผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินตามนโยบาย คทช.
ปัญหาความยากจนของประชาชนเป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนาน มีสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย จำเป็นต้องเช่าที่ดินของผู้อื่น หรือบางรายเข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินของรัฐอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนหนึ่งเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า ส่งผลให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมา จากปัญหาดังกล่าวรัฐบาลได้กำหนดนโยบายแนวทางดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา หาแนวทางให้ประชาชนที่เข้าไปทำกินในที่ดินของรัฐอย่างไม่ถูกต้อง ได้รับสิทธิบางประการที่ทำให้สามารถมีที่ดินทำกินเลี้ยงชีพได้
ความหมายของคำว่าสิทธิ
คำว่า สิทธิ (อ่านว่า สิด-ทิ) โดยทั่วไป หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม ในภาษากฎหมาย สิทธิ หมายถึง อำนาจที่จะกระทำการใดๆ ได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย และต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคนอื่น คำว่า สิทธิ มีความหมายเหมือนคำว่า สิทธิ์ (อ่านว่า สิด) แต่ สิทธิ มักใช้ในภาษากฎหมาย หรือใช้ควบคู่กับคำอื่น เช่น สิทธิเสรีภาพ สิทธิและหน้าที่ ส่วนคำว่า สิทธิ์ ใช้ในภาษาทั่วไป3
คำว่า สิทธิมนุษยชน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 บัญญัติว่า “สิทธิมนุษยชน” หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล บรรดาที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย หรือตามหนังสือสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม4
สิทธิในที่ดิน ตามความหมายของประมวลกฎหมายที่ดิน หมายถึง กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดิน5
ในบริบทเรื่องที่ดิน เราจะคุ้นเคยกับคำว่ากรรมสิทธิ์ สิทธิในการครอบครอง โดยมีเอกสารสิทธิเป็นหลักฐานยืนยันทางกฎหมาย ซึ่งแต่ละคำมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
“กรรมสิทธิ์” หมายถึง ความเป็นเจ้าของ ซึ่งบุคคลอาจเป็นเจ้าของที่ดินได้ โดยรัฐจะออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ให้
“สิทธิครอบครอง” เป็นสิทธิครอบครองการทําประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว โดยทางราชการจะออกหนังสือแสดงสิทธิครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดิน หรือเป็นการรับรองการทําประโยชน์ เช่น หนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส. 3, น.ส. 3 ก., น.ส. 3 ข.) หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว เป็นต้น6
แนวทางการจัดที่ดินทำกินตามนโยบาย คทช.
การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำ การบุกรุกป่าและที่ดินของรัฐ โดยการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้ ภายใต้กฎหมายและหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานของรัฐ และ คทช. กำหนด และในคราวการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 คทช.เห็นชอบให้ใช้ชื่อว่า “การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน”
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 เรื่อง การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบาลรัฐบาล อนุมัติหลักการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช. กำหนดในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสมเพื่อร่วมกันบริหารจัดการที่ดิน และสามารถตกทอดสู่ทายาทได้ รวมทั้งการส่งเสริมการประกอบอาชีพตามศักยภาพของพื้นที่โดยที่ดินของรัฐทุกประเภทต้องป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ต้นน้ำในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 รวมทั้งพื้นที่กันชนรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสมบูรณ์7
สิทธิที่จะได้รับจากการได้ที่ดินทำกินตามนโยบาย คทช.
คำว่าสิทธิในเรื่องการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนตามนโยบาย คทช. นั้น หมายถึง สิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นๆ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ของรัฐ นำไปสู่การจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนได้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้แก่
- สิทธิในการเข้าทำประโยชน์ ทั้งในลักษณะที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ประโยชน์ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องในพื้นที่และเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนดและเงื่อนไขของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เช่น การทำโฮมสเตย์ หรือกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร เป็นต้น ถึงแม้จะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่การให้สิทธิเข้าทำประโยชน์เป็นการสร้างความมั่นคงในการดำรงชีพของประชาชน
- สิทธิตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมได้
- สิทธิในการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หลังจากได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ประชาชนสามารถรับการสนับสนุนและช่วยเหลือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ไฟฟ้า น้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ถนน เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณภาพชีวิตที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ
- สิทธิในการรับความช่วยเหลือจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐ รวมถึงความช่วยเหลือเยียวยาหากได้รับภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย วาตภัย เป็นต้น
นอกจากสิทธิขั้นพื้นฐานดังที่กล่าวมาแล้ว การได้สิทธิให้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมจากการดำเนินงานของภาครัฐด้วย เช่น การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ โดยหน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะสามารถจัดตั้งงบประมาณเพื่อจะส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตในรูปแบบเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การใช้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างรายได้ในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ หรือการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน โดยแนวทางการสนับสนุนเงินทุนในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางการเกษตรในพื้นที่จะมี 2 กรณี คือ กรณีมีการจัดตั้งสหกรณ์ในพื้นที่ สามารถสนับสนุนเงินทุนแก่เกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ โดยผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้สหกรณ์เป็นผู้กู้ยืมและให้คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เป็นผู้ค้ำประกัน หรือจากสถาบันการเงินต่างๆ สามารถให้สหกรณ์เป็นผู้กู้ยืม โดยใช้หลักประกันตามระเบียบของสถาบันการเงินนั้นๆ และกรณีอยู่ระหว่างการรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์ เกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินในพื้นที่สามารถใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. โดยใช้หลักประกันเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลักประกัน นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน8
หลังจากท่านผู้อ่านได้อ่านบทความนี้จบแล้วจะเห็นว่าการมอบโอกาสการเข้าถึงที่ดินและสิทธิประโยชน์ที่รัฐพึงจัดให้มีแก่ประชาชน สามารถประกอบอาชีพหรืออยู่อาศัยในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ตนเอง และครอบครัว นอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตแล้ว ยังจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกร่วมในการอนุรักษ์และหวงแหนในผืนดิน ลดปัญหาการขยายพื้นที่ และช่วยกันรักษาระบบนิเวศให้คงมีความอุดมสมบูรณ์ยั่งยืนสืบไป
และเช่นเคย สุดท้ายนี้ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) และติดตามการดำเนินงานต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ รวมทั้งสามารถสอบถามข้อสงสัยมาทางเว็บไซต์ https://www.onlb.go.th และ Facebook Fanpage : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ แล้วพบกันใหม่ในบทความครั้งหน้า
อ้างอิง
1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
3 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 18 มีนาคม 2567 จาก https://dictionary.orst.go.th
4 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560. เข้าถึงเมื่อ 18 มีนาคม 2567 จาก https://shorturl.asia/yX6H9
5 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497. เข้าถึงเมื่อ 18 มีนาคม 2567. จาก https://shorturl.asia/TFD8b
6 แหล่งเดียวกัน.
7 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 5 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: บริษัท ต้นคิด ครีเอท จำกัด.
8 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 5 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: บริษัท ต้นคิด ครีเอท จำกัด.