เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานแทนมนุษย์หรือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนของยุคสมัยที่นำไปสู่ความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่างๆ ...
โดย นายพรเทพ ปฏิพงศ์วัฒนา
นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน กลุ่มงานพัฒนาเครือข่ายและนวัตกรรม
ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจดิจิทัลโลกและประเทศไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้คอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการเชื่อมโยงการปฏิบัติการและกิจกรรมต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา ตลอดจนสามารถสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกกล่าวถึงและนำมาใช้มากที่สุดคือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งเป็นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานแทนมนุษย์หรือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนของยุคสมัยที่นำไปสู่ความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่างๆ
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นเทคโนโลยีรูปแบบหนึ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์มีลักษณะเสมือนมนุษย์ทั้งในเรื่องของความคิด การวิเคราะห์ หรือการเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ โดยใช้โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่มนุษย์เขียนหรือจัดทำชุดข้อมูลขึ้นนำมาฝังไว้กับอุปกรณ์ส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดระบบจักรกลอัจฉริยะที่สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้โดยใช้ภาษาใดก็ตาม อีกทั้งแปลความหมายของคำที่มนุษย์พูด เพื่อให้ตรงกับภาษาที่ต้องการได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้อุปกรณ์ที่มีการฝังเทคโนโลยี AI ไว้ ขยับหรือเคลื่อนไหวได้อีกด้วย1 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI แบ่งตามความสามารถได้ 3 ระดับ ดังนี้
- ปัญญาประดิษฐ์เชิงแคบ (Artificial Narrow Intelligence: ANI) คือ AI ที่มีความสามารถเฉพาะทางได้ดีกว่ามนุษย์ เช่น Siri หรือ ChatGPT เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันผลงานวิจัยด้าน AI ยังอยู่ในระดับนี้
- ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (Artificial General Intelligence: AGI) คือ AI ที่มีความสามารถและประสิทธิภาพเทียบเท่ามนุษย์ สามารถเข้าใจ เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ มีการคิดในเชิงนามธรรม ให้เหตุผล วางแผน แก้ปัญหา และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นแนวคิดทางทฤษฎีและยังไม่ได้รับการตระหนักอย่างสมบูรณ์
- ปัญญาประดิษฐ์แบบเข้ม (Artificial Super intelligence: ASI) คือ AI ที่มีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์ มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับปัญหาที่ซับซ้อน แสดงความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถในการปรับปรุงตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การเติบโตทางสติปัญญาแบบทวีคูณ แต่ในปัจจุบันมนุษย์ยังไม่สามารถพัฒนา AIประเภทนี้ขึ้นมาได้2
ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทในการจัดการข้อมูลจำนวนมาก สามารถแก้ไขปัญหาการทำงานที่ซับซ้อนและทำให้ประหยัดแรงงานมนุษย์ในหลายๆ ด้าน ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ ด้านที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนำเทคโนโลยี AI เข้ามาพัฒนาเพื่อช่วยส่งเสริมด้านการขาย และการตลาดที่ดิน รวมถึงการโฆษณาเพื่อเพิ่มยอดขาย นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในกระบวนการวางแผนเพื่อสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น KAIZENai ที่ผลิตโดย Jay Shah สถาปนิกอินเดีย จากบริษัท Access Architect ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเผยให้เห็นมุมมองการออกแบบโครงการก่อนนำไปสู่การตัดสินใจปรับแบบโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้อาคารมีการออกแบบที่สมบูรณ์ที่สุด และในกระบวนการปรับแบบนั้น ได้ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย เช่น โครงการอาคารสูงแห่งหนึ่งในเมืองมุมไบ เมื่อ AI รับทราบถึงข้อจำกัดของโครงการที่ออกแบบไปแล้ว จะนำไปวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงผังอาคารให้ดีขึ้น โดยการเปลี่ยนตำแหน่งเสา ระบบแกนอาคาร (Core) ช่องชาฟต์ (Shaft) รวมไปถึงลดขนาดช่องลิฟต์ให้เล็กลง ส่งผลให้สามารถลดพื้นที่ว่างเปล่า (Waste Space) ได้มากกว่า 27% และลดการใช้วัสดุที่ไม่จำเป็น 35% นอกจากนี้ AI ยังช่วยออกแบบพื้นที่ชั้นจอดรถให้น้อยลง แต่สามารถจอดรถได้มากขึ้น 62 คัน ทำให้ผลลัพธ์ที่เป็นพื้นที่ขายเพิ่ม 15% และอัตราที่จอดรถต่อพื้นที่ขายของโครงการเพิ่มขึ้น 13% รวมถึงลดกระบวนการทำงานแบบเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลา 2 - 3 เดือนให้สำเร็จได้ในระยะเวลา 28 วันอีกด้วย3
บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้พัฒนาบริการรับเพาะปลูกเกษตร (Farming-as-a-Service) ด้วย AI เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทิ้งร้าง โดยใช้เทคโนโลยี Machine Learning และภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยเพิ่มและพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้เกษตรกรไทย เปลี่ยนที่ดินว่างเปล่าเป็นการลงทุน และรับผลตอบแทนจากการขายผลผลิต ซึ่งตัวระบบจะคำนวณต้นทุน - กำไร และประเมินความเหมาะสมของที่ดิน สภาพอากาศ รวมถึงจัดหาเกษตรกรมาทำการเพาะปลูก ตลอดจนการหาตลาดขายผลผลิตให้ โดยในระยะเวลา 6 ปีสามารถสร้างกำไรให้กับเจ้าของที่ดิน 20 - 30% ต่อปี (ไม่รวมค่าที่ดิน) บนพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 10,000 ไร่4
ในการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็น Smart City จำเป็นต้องใช้รายได้ท้องถิ่นเป็นแรงผลักดัน เพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่นได้ตรงตามเป้าหมาย และการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกต้องครบถ้วนย่อมสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น โดย Bedrock ได้มีการคิดแพลตฟอร์ม ระบบภาษีและสิ่งปลูกสร้างอัจฉริยะ หนึ่งในเทคโนโลยี AI ที่เข้ามาช่วยประมวลผลและวิเคราะห์ ทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกต้องและแม่นยำ อีกทั้งสามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ลดขั้นตอนในการสำรวจ งานทะเบียนและแผนที่ภาษี การแจ้งข้อมูล ตลอดจนการชำระภาษี การตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลภาษีให้เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ และตรวจสอบข้อมูลภาษีร่วมกับเจ้าหน้าที่ผ่านระบบได้ โดยการทำงานของระบบนั้นจะนำข้อมูลการสำรวจเดิมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมารวมกับฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีสำรวจจาก Bedrock มาช่วยในการจัดทำข้อมูลได้ เช่น เทคโนโลยีสำรวจภูมิประเทศแบบเคลื่อนที่ (MMS) ในการเก็บข้อมูลรูปภาพ วิดีโอ และวัดขนาด หรือเทคโนโลยีโดรน เก็บภาพแนวดิ่ง และเทคโนโลยีไลดาร์ Light detection and ranging (LiDAR) เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต ในการสำรวจวัดขนาด หลังจากนั้นจะใช้เทคโนโลยี Augmented Reality เพื่อรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่และการนำเข้าข้อมูลของประชาชนที่มีมาตรฐานและความละเอียดสูง เพื่อให้ AI ที่พัฒนาขึ้นวิเคราะห์และแสดงผลพื้นที่ของอาคารหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบต่างๆ แสดงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ โครงสร้างอาคาร และบริบทการใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับผังเมืองและความคุ้มค่าของการใช้ประโยชน์ เพื่อส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ในการคำนวณภาษีที่แม่นยำ และจัดเก็บภาษีต่อไป อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงในระบบการคำนวณภาษี หากแต่ในอนาคตมีการนำมาใช้จริงก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการทำงานขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีที่รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน สามารถนำรายได้ไปพัฒนาท้องถิ่นได้ตรงตามความต้องการของประชาชนและชุมชนต่อไป5
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยี AI นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจมากและมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดประโยชน์ในงานหลากหลายประเภท และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กรได้ แม้ในปัจจุบัน AI อาจยังไม่สามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด เนื่องจากแรงงานมนุษย์นั้นมีคุณสมบัติที่ดีกว่า อันได้แก่ คุณสมบัติด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และคุณสมบัติด้านการใช้อารมณ์ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เปรียบเสมือนจักรกลอัจฉริยะที่สามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ และสามารถพัฒนาต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดทำให้การทำงานขององค์กรเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนการใช้ชีวิตมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นประหยัดเวลาและงบประมาณ รวมถึงทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย
อ้างอิง
1 อภิสรา คชรัฐแก้วฟ้า. (2566). การศึกษาผลกระทบจากการยอมรับใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานออฟฟิศในประเทศไทย. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://archive.cm.mahidol.ac.th/bitstream/123456789/5260/1/TP%20BM.057%202566.pdf.
2 สถาบัน CoinEx. (2566). ประเภทของปัญญาประดิษฐ์ 3 ระดับมีอะไรบ้าง. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.coinex.com/th/blog/3279-what-are-the-3-levels-of-artificial-intelligence.
3 ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ. (2566). AI คลื่นลูกใหม่ พลิกโฉมวงการอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.prachachat.net/property/news-1386300.
4 กองบรรณาธิการ ไทยรัฐออนไลน์. (2567). รีคัลท์ สตาร์ทอัปทำเกษตรด้วย AI ผุดบริการให้คนไทย เปลี่ยนที่ดินเปล่า เป็นการลงทุน กำไร 30% ต่อปี. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.thairath.co.th/money/ tech_innovation/startup/2758280.
5 Bedrock. (2566). ระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัจฉริยะ ใช้ AI ผสานเทคโนโลยีการสำรวจที่ทันสมัย สู่การสร้างรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มากขึ้น. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://bedrockanalytics.ai/blog/product-update/smart-land-and-building-tax-system-uses-ai-combined-with-modern-surveying-technology-to-create-more-income-for-local-government-organizations.