การนำเสนอแนวคิดว่าด้วย Land Governance เพื่ออธิบายสาเหตุของปัญหาด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน และเพื่อพยายามสร้างกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนและกำกับดูแลที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเชิงนโยบายในอนาคต ...

โดย นายอนุวัตร จินตกสิกรรม

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ

กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ

ผู้เขียนตั้งใจเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นบนความพยายามในการแสวงหาแนวคิดหรือชุดคำอธิบายเกี่ยวกับสภาพปัญหาและข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในบริบทของประเทศไทย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ทั้งในเชิงวิชาการและในภาคปฏิบัติการจริง ว่าปัญหาด้านที่ดินและทรัพยากรดินที่ถูกสะสมและยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลายาวนาน1 ล้วนเกิดขึ้นมาจากปัญหาด้านเอกภาพในการกำหนดทิศทาง การกำกับดูแล และการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพ สมดุล เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย โดยจะได้ทดลองนำเสนอแนวคิดว่าด้วย Land Governance ในฐานะกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีที่สำคัญประการหนึ่งเพื่ออธิบายสาเหตุของปัญหาด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน และเพื่อพยายามสร้างกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนและกำกับดูแลที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเชิงนโยบายในอนาคตต่อไป

ก่อนอื่นต้องอธิบายให้เกิดความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ความพยายามในการนำเสนอแนวคิดว่าด้วย Land Governance ในบทความนี้ผู้เขียนมุ่งนำเสนอด้วยความระมัดระวังในทางวิชาการ เนื่องจากแนวคิดว่าด้วย Governance ทั้งในระดับสากลและในวงวิชาการไทย ถือเป็นแนวคิดทางสังคมศาสตร์ที่มีความไม่ชัดเจน เต็มไปด้วยความสับสนและข้อถกเถียงจำนวนมาก2 และเนื่องด้วยยังไม่มีศัพท์บัญญัติในงานวิชาการไทยไว้เป็นการเฉพาะและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของประชาชนและภาคสาธารณะโดยทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการจัดทำบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ในบทความนี้ผู้เขียนจะทดลองนำเสนอแนวคิดว่าด้วย Land Governance ด้วยคำภาษาไทยในเบื้องต้นว่า “แนวคิดธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน” อย่างไรก็ตาม ในงานศึกษาวิจัยเรื่องระบบกำกับดูแลที่ดินเพื่อการพัฒนา: ทางเลือกการใช้ที่ดินและนโยบายที่ดินใน 20 ปีข้างหน้า ของผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ ได้ให้คำจำกัดความ Land Governance ในภาษาไทยไว้ว่า “การกำกับดูแลที่ดิน” โดยให้นิยามแนวคิดดังกล่าวว่าหมายถึง การกระทำโดยส่วนรวม (Collective Action) ที่มีรัฐเป็นหนึ่งในผู้ประสาน เพื่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจและสังคมผ่านการใช้ที่ดิน การกระจาย การเข้าถึง การได้ครอบครอง และการได้เป็นเจ้าของที่ดิน3

แนวคิดธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Governance) เป็นแนวคิดที่ถูกศึกษาและพัฒนาอย่างแพร่หลายโดยองค์การระหว่างประเทศหลายองค์กรตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจะกำหนดชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กร เช่น แนวคิด Land Governance ของโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN HABITAT)4 และธนาคารโลก (The World Bank)5 หรือแนวคิด Good Governance in Land Administration ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)6 และแนวคิด Governance of Land Use ขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)7 เป็นต้น

แม้ว่าแนวคิดธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Governance) ของแต่ละหน่วยงานจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปบ้างก็ตาม แต่เหตุผลเบื้องหลังที่พัฒนาแนวคิดดังกล่าวขึ้นมานั้นมีจุดร่วมกันประการหนึ่ง กล่าวคือ ความต้องการใช้ที่ดินทั่วโลกยังคงเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งอันเป็นผลมาจากราคาอาหารที่ผันผวนและเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของชุมชนเมือง และการใช้ที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์ในด้านต่างๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจำเป็นต้องมีนโยบายด้านที่ดินที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมเพื่อทำให้เกิดความมั่นคงแก่สิทธิในการถือครองที่ดินในระยะยาว การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสิทธิในที่ดิน และรับมือกับบรรดาผลกระทบภายนอกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ยังไม่รวมถึงปัญหาว่าสภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองที่ดินในแต่ละประเทศมักมีความเชื่อมโยงกับความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ ความสืบเนื่องยาวนานของสิทธิในที่ดิน และความแตกต่างที่มีอยู่อย่างมากในพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละสังคม ทำให้ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหรือปัญหาที่ต้องเผชิญเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินนั้นย่อมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม หรือแม้กระทั่งแต่ละพื้นที่ภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ การที่กระบวนการปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลายาวนานเพื่อให้เห็นถึงผลลัพธ์ และอาจถูกต่อต้านคัดค้านจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ได้ ทำให้จำเป็นต้องมีการระบุถึงปัญหาและร่วมกันแสวงหาวิธีการประเมินผลการดำเนินการในแต่ละช่วงเวลาอย่างปราศจากอคติด้วย มิฉะนั้น อาจทำให้การระบุปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดินซึ่งควรจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเท่าทันต่อสถานการณ์นั้นเกิดความล่าช้าขึ้นได้8

ธนาคารโลกได้ระบุว่าการมีระบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อประเมินธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการที่ดินนั้นเกิดขึ้นจากความจำเป็น 3 ประการ สรุปได้ดังนี้9

  1. ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เช่น ความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการที่ดินในแต่ละด้าน ความต้องการที่ดินในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดของอาหาร พลังงาน และเพื่อใช้ในการจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีมีเพิ่มมากขึ้น และการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานและที่ดินจากภาคเกษตรเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ทำให้รัฐทั้งหลายตระหนักว่า การจัดระเบียบองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินนั้นกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากในการที่จะช่วยให้รัฐต่างๆ บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเอาชนะความยากจนได้
  2. ปัญหาเกี่ยวกับการจัดวางอำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน มักมีลักษณะที่กระจายความรับผิดชอบไปยังหน่วยงานของรัฐจำนวนมากโดยที่ขาดแคลนกลไกที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องของความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลไกที่ถูกกำหนดเอาไว้ในบทบัญญัติของกฎหมายกับประสิทธิผลในทางปฏิบัติเมื่อนำเอากลไกเหล่านั้นไปใช้บังคับในสถานการณ์จริง
  3. ปัญหาเกี่ยวกับที่ดินนั้นมักมีความซับซ้อนทางเทคนิคและมีบริบทแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละปัญหาอยู่เสมอ การนำเสนอมาตรการที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ มักจะถูกต่อต้านจากผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับประโยชน์จากการคงระบบเดิมไว้ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวอาจเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจต่อรองสูง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การก่อให้เกิดความก้าวหน้าในประเด็นเหล่านี้ได้นั้น ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการผลักดันจะต้องทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมที่จัดทำขึ้นอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนและรอบด้าน

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Governance) เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับกฎ (Rules) กระบวนการ (Processes) และโครงสร้าง (Structures) ที่นำไปสู่การตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้สามารถนำไปปฏิบัติและมีผลบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำกับ ควบคุม และบริหารจัดการผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินระหว่างคนกลุ่มต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับประชาชนทุกคน สร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดินสำหรับทุกภาคส่วนของสังคม สร้างประสิทธิภาพ และความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์ที่ดินในมิติต่างๆ เช่น การต่อสู้การแปรสภาพเป็นทะเลทราย การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ การป้องกันและควบคุมการขยายตัวของเมือง และการลดความเสี่ยงภัยพิบัติและการเตรียมความพร้อมรับมือ เป็นต้น รวมถึงการควบคุมกำกับการเพิ่มมูลค่าของที่ดิน และการเสริมสร้างการบริหารจัดการที่ดีในทุกภาคส่วนของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน10 สอดคล้องกับผาสุก พงษ์ไพจิตร ที่กล่าวว่า การกำกับดูแลที่ดิน (Land Governance) เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับกฎเกณฑ์ กฎหมาย รวมถึงวิถีปฏิบัติตามธรรมชาติและประเพณี มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หลากหลายทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเป้าหมายหลักของการกำกับดูแลที่ดิน คือ ความชัดเจนในการกำหนดและดูแลสิทธิของผู้อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบ เพื่อให้เกิดความสันติสุข ความยั่งยืน และความก้าวหน้าของประเทศ ในแง่นี้ รัฐบาลจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบการสร้างเสริมความมั่นคงด้านกรรมสิทธิ์ตามที่ประชาชนพึงมีพึงได้ตามสิทธิ11

แนวคิดธรรมภิบาลด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Governance) มีจุดเน้นที่แตกต่างกันออกไป ตามวัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงความสนใจของนักวิชาการแต่ละคน แต่มีจุดร่วมของแนวคิดที่สามารถสรุปตามกรอบธรรมาภิบาลสากล (Good Governance) ได้ว่าหลักการของธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินควรมีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างน้อย 8 ประการ ดังนี้12

  1. ประสิทธิผล (Efficiency) ซึ่งมีจุดเน้นที่สำคัญ คือ กระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เช่น การจดทะเบียนเพื่อทำธุรกรรม เป็นต้น ควรเป็นไปด้วยความสะดวก และมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะยิ่งการดำเนินการสามารถทำได้โดยง่ายมากเพียงใด โอกาสที่จะเกิดการเรียกค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่าดำเนินการปกติก็จะลดน้อยลง
  2. ประสิทธิภาพ (Effectiveness) ความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินขึ้นอยู่กับศักยภาพของการดำเนินการของหน่วยงานและงบประมาณ รวมถึงเงื่อนไขพื้นฐานด้านสังคมและการเมืองประกอบด้วย เช่น เจตจำนงทางการเมือง หลักนิติรัฐ คุณภาพของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย และเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล เป็นต้น
  3. ความโปร่งใส ความคงเส้นคงวา และความสามารถในการคาดการณ์ได้ (Transparency, Consistency and Predictability) การสร้างความโปร่งใสในส่วนของการได้มาซึ่งบุคลากร มาตรฐานการให้บริการ และค่าใช้จ่ายในการให้บริการ จะช่วยให้การทำงานในหน่วยงานนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ในแง่ของความเป็นธรรมและความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อหน่วยงานอีกด้วย
  4. ความซื่อสัตย์และพร้อมรับผิดชอบ (Integrity and Accountability) การเสริมสร้างความพร้อมรับผิดชอบในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินนั้นทำได้ด้วยการปรับใช้มาตรฐานการบริการให้เป็นอย่างเดียวกันโดยมีการตรวจสอบมาตรฐานดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ การกำหนดประมวลจริยธรรมในการทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีกลไกการลงโทษที่ชัดเจน รวมไปถึงการกำหนดรางวัลให้เป็นแรงจูงใจสำหรับผู้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. การแบ่งสรรอำนาจ การส่งเสริมการตัดสินใจด้วยตนเอง และความปลอดจากการเมือง (Subsidiarity, Autonomy and Depoliticization) การส่งเสริมให้หน่วยงานบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในท้องถิ่นมีอำนาจที่มากขึ้นและสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองในเรื่องที่เป็นประเด็นในระดับท้องถิ่น และการเพิ่มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลในการบริหารจัดการระดับชาติ เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การบริการมีคุณภาพมากขึ้นและลดการทุจริตให้น้อยลงได้
  6. พันธกิจต่อผู้รับบริการและการมีส่วนร่วมจากประชาชน (Civic Engagement and Public Participation) การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินที่มุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางและเน้นความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ทำได้ด้วยการพัฒนาระบบการเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง การสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการ และมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารและให้ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถรายงานการทุจริตและประพฤติมิชอบได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
  7. ความเป็นธรรม ความยุติธรรม และความเป็นกลาง (Equity, Fairness and Impartiality) ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงและรับบริการอย่างมีมาตรฐานเดียวกันโดยไม่คำนึงถึงฐานะทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ เช่น การนำเอาระบบจัดลำดับในการให้บริการตามหลัก “ผู้มาก่อนได้รับบริการก่อน” มาใช้ในการดำเนินการ เป็นต้น
  8. ความมั่นคงทางกฎหมายและหลักนิติรัฐ (Legal Security and Rule of Law) การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีธรรมาภิบาล จำเป็นต้องมีกรอบแนวคิดในทางกฎหมายที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งยังต้องมีระบบการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและโปร่งใสตรวจสอบได้ กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือ รวมไปถึงการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงหลักการของกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน

ในขณะที่งานศึกษาของ Hossein Azadi และคณะ (2023) เกี่ยวกับธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอัจฉริยะ (Smart Land Governance) ให้ความสำคัญกับปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่13

  1. ปัจจัยด้านเทคโนโลยี (Technology Factors) ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ นวัตกรรมเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับศักยภาพในกระบวนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน รวมถึงการพัฒนากระบวนการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
  2. ปัจจัยด้านบุคลากร (Human Factors) ประกอบด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดชอบ (Responsibility) การมีส่วนร่วม (Participation) ความพร้อมรับผิดรับชอบ (Accountability) หลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) และความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equity) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และขจัดความยากจนในมิติต่างๆ ให้หมดสิ้นไป
  3. ปัจจัยทางด้านสถาบัน (Institution Factors) ประกอบด้วยประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายและการบริหารจัดการ กฎระเบียบ และแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายในแต่ละระดับของการบริหาร
รูปที่ 1 แนวคิดธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน (Smart Land Governance)

ที่มา: Hossein Azadi และคณะ (2023)

นอกจากนี้ แนวคิดที่สื่อให้เห็นถึงธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินยังปรากฏในงานศึกษาภายใต้หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เช่น ข้อสรุปในงานศึกษาของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการที่ดินในคณะกรรมการบริหารจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศระดับโลกแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations Committee of Experts on Global Geospatial Information Management (UN-GGIM)) เมื่อปี 2019 ที่ได้กำหนดเป้าหมายโดยรวมของกรอบแนวคิดการบริหารจัดการที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ (Framework for Effective Land Administration (FELA)) ไว้ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการประสานนโยบายว่าด้วยการบริหารจัดการที่ดินทั่วโลกให้สอดคล้องกัน โดยใช้กรอบแนวคิดนี้เป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารจัดการนโยบายในบรรดาชาติสมาชิกให้เป็นไปตามแนวทางของ The United Nations Integrated Geospatial Information Framework (UN-IGIF) ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งขององค์การสหประชาชาติที่มีขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือในเรื่องพื้นฐานและแนะแนวทางเพื่อการพัฒนา บูรณาการ เพิ่มประสิทธิภาพ และผลักดันให้ทุกประเทศมีการบริหารจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มศักยภาพ โดยให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการสร้างความเท่าทันกับเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมั่นคง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยในรายงานการศึกษาฉบับนี้ได้มีการระบุถึงปัจจัย 9 ประการเพื่อสนับสนุนกรอบแนวคิดการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย (1) การวางระบบและโครงสร้างหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการและกำกับดูแลภายใต้หลักความรับผิดชอบ (Governance, Institutions and Accountability) (2) กฎหมายและนโยบาย (Legal and Policy) (3) การเงิน (Finance) (4) ข้อมูล (Data) (5) นวัตกรรม (Innovation) (6) การกำหนดมาตรฐาน (Standards) (7) การเสริมสร้างความร่วมมือ(Partnerships) (8) การเสริมสร้างศักยภาพและการศึกษาวิจัย (Capacity and Education) และ (9) การสนับสนุนข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้ (Advocacy and Awareness)14

รูปที่ 2 กรอบแนวคิดในการบริหารจัดการที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: United Nations Committee of Experts on Global Geospatial Information Management (UN-GGIM) (2019)

จากความพยายามแสวงหาแนวคิดหรือชุดคำอธิบายเกี่ยวกับธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Governance) ผ่านการทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะองค์การระหว่างประเทศต่างๆ และของนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พอจะทำให้ผู้อ่านทราบว่าแนวคิดดังกล่าวมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจสภาพปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ และจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับช่วยหาทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของแต่ละประเทศ ซึ่งในอนาคตผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพัฒนากรอบแนวคิดว่าด้วยธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน (Land Governance) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อเป็นชุดคำอธิบายและกรอบการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทยให้เกิดความเป็นเอกภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างแท้จริงต่อไป


อ้างอิง

1 ดูรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพปัญหาและข้อจำกัดของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทยเพิ่มเติมได้ใน นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580), หน้า 12 – 56. และ ปาริชาติ อินสว่าง และคณะ. (2567). สภาพปัญหาข้อจำกัดในปัจจุบันและทิศทางแนวโน้มในอนาคตของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย เข้าถึงจาก https://www.onlb.go.th/about/featured-articles/5149-a5149.

2 ดูข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดว่าด้วย Governance ใน ธีรพัฒน์ อังศุชวาล. (2566). Governance 101: ความหมายและรูปแบบที่หลากหลาย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์. ซึ่งใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้นำเสนอว่า Governance เป็นแนวคิดที่มีความหมายและรูปแบบที่หลากหลายเป็นอย่างมาก แม้ว่างานชิ้นดังกล่าวจะพยายามชี้ว่าการทำความเข้าใจ Governance ไม่ใช่ธรรมาภิบาลอย่างที่สังคมมักเข้าใจกัน แต่การเข้าใจแนวคิด Governance ในทางทฤษฎีอย่างยืดหยุ่นและหลากหลายจะทำให้เข้าใจพลวัตของการปกครอง การจัดการภาครัฐ และนโยบายสาธารณะได้มากยิ่งขึ้น

3 ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ). (2566). Getting Land Right ระบบกำกับดูแลที่ดินไทยต้องปฏิรูป. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, หน้า 16.

4 UN HABITAT. (2017). Land Governance: A Review and Analysis of Key International Frameworks. January 24, 2024. Retrieved from https://unhabitat.org/sites/default/files/download-manager-files/Land%20Governance%20_A%20Review%20and%20Analysis.pdf.

5 Klaus Deininger, Harris Selod, and Anthony Burns. (2012). The Land Governance Framework: Identifying and Monitoring Good Practice in the Land Sector. January 24, 2024. Retrieved from https://openknowledge.worldbank.org/server/api/core/bitstreams/bba1b7f1-6520-5e92-962b-7735eec15ded/content. หน้า 133 - 139.

6 Wael Zakout, Babette Wehrmann, Mika-Petteri Törhönen. Good Governance in Land Administration: Principles and Good Practices. January 24, 2024. Retrieved from https://www.fao.org/3/ak375e/ak375e.pdf.

7 OECD. (2017). The Governance of Land Use: Policy Highlight. January 24, 2024. Retrieved from https://www.oecd.org/cfe/regionaldevelopment/governance-of-land-use-policy-highlights.pdf.

8 Klaus Deininger, Harris Selod, and Anthony Burns. (2012). The Land Governance Framework: Identifying and Monitoring Good Practice in the Land Sector. p.1 อ้างถึงใน สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2567). รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการการศึกษาการบูรณาการเพื่อยกระดับระบบ โครงสร้าง และกลไกการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ: กรณีการยกระดับของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ, หน้า 56 – 57.

9 The World Bank. (2013), Land Governance Assessment Framework: Implementation Manual for Assessing Governance in the Land Sector, p.6. January 24, 2024. Retrieved from https://thedocs.worldbank.org/en/doc/a91b90185037e5f11e9f99a989ac11dd-0050062013/original/LGAF-Manual-Oct-2013.pdf.

10 David Palmer, Szilard Fricska, Babette Wehrmann (2009), Towards Improved Land Governance, p.9-13. January 24, 2024. Retrieved from https://unhabitat.org/sites/default/files/download-manager-files/TOWARDS%20IMPROVED%20LAND%20GOVERNANCE%20%2C%20Land%20and%20Tenure%20Working.pdf.

11 ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ). (2566). Getting Land Right ระบบกำกับดูแลที่ดินไทยต้องปฏิรูป. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, หน้า 16.

12 Wael Zakout, Babette Wehrmann, Mika-Petteri Törhönen, Good Governance in Land Administration Principles and Good Practices, p.7. February 5, 2024. Retrieved from https://www.fao.org/3/I0830e/I0830e00.pdf.

13 Hossein Azadi และคณะ. (2023). Smart Land Governance: Towards a Conceptual Framework. February 5, 2024. Retrieved from https://mdpi-res.com/d_attachment/land/land-12-00600/article_deploy/land-12-00600.pdf?version=1677825663.

14 United Nations Committee of Experts on Global Geospatial Information Management (UN-GGIM) (2019), Framework for Effective Land Administration A reference for developing, reforming, renewing, strengthening or modernizing land administration and management systems, p.14-23. February 5, 2024. Retrieved from https://ggim.un.org/meetings/GGIMcommittee/thSession/documents/ E_C.20_2020_10_Add_1_LAM_background.pdf.


epetitions

complaint

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow
Slide