เมื่อวันพุธที่ 19 มกราคม 2565 เวลา 13.30 น. คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ประชุมครั้งที่ 1/2565 โดยมี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Video Conference จากห้องประชุม 134 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ
ที่ประชุมมีวาระเพื่อทราบ ได้แก่
- คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด โดยมี นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน และนายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้แทนจาก 14 หน่วยงานเป็นคณะทำงานดังกล่าว เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษาแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด
- ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งในภาพรวมพื้นที่ คทช. มีเป้าหมายทั้งหมด 1,442 พื้นที่ ใน 70 จังหวัด เนื้อที่กว่า 5.7 ล้านไร่ และได้คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายสำหรับการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด จำนวน 185 พื้นที่ 62 จังหวัด โดยมีหน่วยงานในคณะอนุกรรมการฯ บูรณาการทำงานร่วมกันในการส่งเสริมอาชีพในพื้นที่ คทช. โดยได้รับงบประมาณรวม 146.207 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามกรอบภารกิจ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นฐานข้อมูล Zoning ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ด้านการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ด้านสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และด้านการส่งเสริมและการจัดทำบัญชีครัวเรือน
สำหรับแผนการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ในปี 2565 ได้คัดเลือกพื้นที่ คทช.ที่เป็นเป้าหมายจำนวน 30 แห่ง เพื่อถ่ายทอดความรู้และพัฒนาการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพ จัดทำระบบดินและน้ำให้มีคุณภาพ สนับสนุนปัจจัยการผลิต ก่อสร้างแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทาน การแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า สนับสนุนวัสดุการเกษตร และส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อเป็นสถาบันเกษตรกร โดยนำระบบสหกรณ์เข้ามาเป็นกลไกในการบริหารจัดการผลผลิตและการดำเนินธุรกิจร่วมกันของคนในชุมชน
จากนั้นมีวาระการพิจารณาเกี่ยวกับผลการศึกษาของคณะทำงานศึกษาแนวทางการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ภายใต้กรอบแนวทาง 3S ได้แก่ 1. Sufficiency Economy การแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง โดยใช้วิธีการสหกรณ์ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2. Social Business สร้างความเข้มแข็งและเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน เพื่อให้สหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม และ 3. Sustainable Development Goals (SDGs) การพัฒนาเชิงพื้นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการพึ่งพาตนเองและจัดการกันเองให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน รวมถึง กรอบตัวชี้วัด 6 ด้าน และกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกร ปี 2565 - 2570 พร้อมทั้งติดตามปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา และร่วมหารือในประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ภาพจาก: กรมส่งเสริมสหกรณ์ https://www.cpd.go.th/
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ https://www.moac.go.th/