มารู้จัก ... กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามแนวนโยบาย คทช.
โดย นายภิชชากรณ์ วงศ์ทองดีปี่แก้ว
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
กลุ่มงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. มีนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธานกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ซึ่งในกระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของ คทช. นั้น มีกลไกการดำเนินงาน 2 ระดับ ดังนี้
- กลไกระดับนโยบาย
คทช. มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติและกำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างเหมาะสม โดยมีหลักการเพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินเป็นไปอยางมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ
- กลไกระดับการขับเคลื่อน
นายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พุทธศักราช 2562 ประกอบกับมติที่ประชุม คทช. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. จำนวน 9 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน คณะอนุกรรมการกำกับ ติดตาม และประเมินผล คณะอนุกรรมการสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน และคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ และตามมติที่ประชุม คทช. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. เพิ่มเติมอีก 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร. จังหวัด) และคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ รวมปัจจุบันมีคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. จำนวน 11 คณะ โดยในกระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามแนวนโยบายของ คทช. จะมีคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) ตามภาพที่ 11
การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจัดที่ดินให้ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยูอาศัย โดยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินงาน ซึ่งสามารถสรุปขั้นตอนการดำเนินงานในภาพรวมได้ดังนี้2
-
หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ ฯลฯ กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมและมีความพร้อมในการจัดที่ดิน และดำเนินการจัดทำข้อมูลพื้นที่
กรณี คทช.จังหวัด พิจารณาแล้วเห็นว่า มีพื้นที่เหมาะสมที่จะดำเนินการนอกเหนือจากพื้นที่เป้าหมายที่คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินกำหนด คทช.จังหวัด สามารถแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ พิจารณานำเสนอคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินเพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายดำเนินการได้
- หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ เสนอข้อมูลพื้นที่พร้อมข้อมูลผู้ครอบครองที่ดินเดิมที่หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ได้สำรวจไว้แล้ว (ถ้ามี) ต่อคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน
- คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน พิจารณาข้อมูลพื้นที่ เพื่อคัดเลือกและกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการ แล้วแจ้งให้ คทช.จังหวัด พิจารณาดำเนินการ พร้อมทั้งแจ้งกระทรวงมหาดไทยทราบ เพื่อประสานการปฏิบัติและขับเคลื่อนการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
- คทช.จังหวัด พิจารณาขอบเขตพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการและข้อมูลผู้ครอบครองที่ดินเดิมที่หน่วยงานรับผิดชอบได้สำรวจไว้แล้ว (ถ้ามี) แล้วรายงานผลการพิจารณาพร้อมข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน
-
คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน พิจารณาให้ความเห็นชอบกับพื้นที่เป้าหมาย และแจ้งผลการพิจารณาไปยัง คทช.จังหวัด เพื่อทราบ พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน เพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดที่ดิน รวมถึงแจ้งให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด และฝ่ายเลขานุการ คทช. ทราบ เพื่อเป็นการประสานการปฏิบัติและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง แล้วรายงานต่อ คทช. เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน
สำหรับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อ คทช.จังหวัด พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ยื่นขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ไปด้วย โดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน (คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน มีมติในประเด็นนี้ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564)
สำหรับพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และป่าชายเลน เมื่อ คทช.จังหวัด รับแจ้งผลการพิจารณาเห็นชอบให้นำพื้นที่ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนจากคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินแล้ว ให้จังหวัดยื่นขออนุญาตตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พุทธศักราช 2558
- คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน พิจารณากำหนดตามหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และประเภทของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินของที่ดินแต่ละประเภท และเสนอต่อ คทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ
- คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน ส่งข้อมูลพื้นที่พร้อมข้อมูลผู้ครอบครองที่ดินเดิมที่หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ได้สำรวจไว้แล้ว (ถ้ามี) ให้ คทช.จังหวัด ตรวจสอบ เพื่อคัดเลือกบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่ คทช. เห็นชอบ และจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับการจัดที่ดิน ส่งให้คณะอนุกรรมการจัดที่ดินทราบ แล้วรายงาน คทช. เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน
- เมื่อ คทช.จังหวัด คัดเลือกบุคคลตามหลักเกณฑ์ในพื้นที่แล้ว
- ผู้ได้รับการจัดที่ดินรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มหรือชุมชน ตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข ที่ คทช. กำหนด ในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม หรือกรณีที่มีการจัดตั้งสหกรณ์แล้ว สมาชิกส่วนใหญ่จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน เพื่อร่วมกันบริหารจัดการที่ดิน
- กรณีพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ ให้มีการรวมกลุ่มเป็นองค์กร นิติบุคคล หรือจัดตั้งสหกรณ์ แล้วยื่นขออนุญาต/อนุญาตให้ใช้ประโยชน์/ให้เช่า/อื่น ๆ ตามกฎหมายของที่ดินแต่ละประเภท
- คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน ส่งบัญชีรายชื่อผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด เพื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง คทช.จังหวัด ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ตามกรอบการดำเนินงานที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดกำหนด แล้วแจ้งฝ่ายเลขานุการ คทช. ทราบ เพื่อรายงานต่อ คทช. รับทราบผลการดำเนินงาน
เป็นอย่างไรบ้างครับท่านผู้อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านจะได้รับทราบกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามแนวนโยบาย คทช. ที่พวกเราชาว สคทช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คทช. มีภารกิจในการร่วมขับเคลื่อนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนเพื่อประโยชน์ของประชาชนให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังคำขวัญที่ว่า “บริหารจัดการที่ดิน ประชาชนอยู่กินยั่งยืน”
สุดท้ายนี้ ท่านผู้อ่านสามารถติดตามผลการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามแนวนโยบาย คทช. ได้จากเว็บไซต์ https://www.onlb.go.th และ Facebook Fanpage : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
อ้างอิง
1สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 5, หน้า 36 - 41.
2สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 5, หน้า 42 – 44.