การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) คือ การวางนโยบายในการบริหารจัดการ และกำกับดูแล “ข้อมูล” ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญของแต่ละหน่วยงาน หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าจัดทำการธรรมาภิบาลข้อมูล คือโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ...
โดย นายอรรคภพ รอดจินดา
นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ
กลุ่มงานพัฒนาเครือข่ายและนวัตกรรม
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน
พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 25621 มาตรา 4 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยมาตรา 10 (9) ของพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้ คทช. มีหน้าที่และอำนาจในการประสานงานและจัดให้มี รวมถึงการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศของที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เพื่อการวางแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ รวบรวม จัดเก็บ วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ทั้งนี้ อันเนื่องมาจากหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบดูแลข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดินตามขอบเขตภารกิจ หน้าที่และอำนาจ รวมถึงวัตถุประสงค์การนำไปใช้ของหน่วยงาน ทำให้ข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศกระจัดกระจายกันอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ขาดการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ปัญหาความซ้ำซ้อนและไม่สอดคล้องกัน หรือมีมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน ซึ่งการขาดระบบการบริหารจัดการข้อมูลที่ดี ส่งผลให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศขาดประสิทธิภาพ โดยที่เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มุ่งหมายที่จะให้เกิดการบริหารจัดการข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินอย่างเป็นระบบ มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การวางแผนการบริหารจัดการ ตลอดจนแก้ไขปัญหาด้านที่ดินและทรัพยากรดิน เกิดความเป็นเอกภาพ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ในฐานะผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของ คทช. ในการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการบริหารจัดการทางด้านข้อมูลให้เป็นไปตามนโยบาย กฎระเบียบ แนวทางปฏิบัติ ตลอดจนมาตรฐานที่กำหนด เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดินตามกรอบธรรมาภิบาล ให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านที่ดินและทรัพยากรดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) คือ การวางนโยบายในการบริหารจัดการ และกำกับดูแล “ข้อมูล” ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญของแต่ละหน่วยงาน หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าจัดทำการธรรมาภิบาลข้อมูล คือโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ในความเป็นจริง การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลถือเป็นการวางกลยุทธ์ของหน่วยงานทางด้านข้อมูล โดยมีบุคลากรในส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance Council) เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทาง ผู้บริหารข้อมูลระดับสูง (Chief Data Officer) มีหน้าที่กำหนดแนวทางและแผนการดำเนินงานตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลที่กำหนด บริกรข้อมูล (Data Steward) เป็นบุคคลสำคัญที่ทำหน้ที่กำหนดรายละเอียดทั้งทางด้านคุณภาพข้อมูล การรักษาความเป็นส่วนบุคคล และความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล โดยมีเจ้าหน้าที่ด้าน IT เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่างๆ รวมถึง ผู้ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ เจ้าของข้อมูล (Data Owner) ซึ่งอาจจะเป็นหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ จึงกล่าวได้ว่าจัดทำการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) เกี่ยวข้องกับบุคลากรทุกฝ่ายในองค์กร
กระบวนการจัดทำธรรมภิบาลข้อมูล (Data Governance) แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนการตรวจสอบ และวางกระบวนการทำงาน โดยเน้นที่การคัดเลือกขอบข่ายงาน (Framework) ที่เหมาะสม และทำการวิเคราะห์ช่องว่างของกระบวนการทำงาน และส่วนที่ 2 คือการนำชุดข้อมูลไปปฏิบัติ หรือ Implementation คือการคัดเลือกชุดข้อมูลเพื่อนำมากำกับตามกรอบที่กำหนด ผ่านเทมเพลตกลาง (Template) โดยนำระบบบัญชีข้อมูล (Data Catalog) เข้ามาใช้งานเพื่อรวบรวมรายละเอียดต่าง ๆ เช่น คำอธิบายชุดข้อมูล (Metadata) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เช่น ความถี่ในการจัดเก็บข้อมูล การตรวจสอบความถูกต้อง ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ วงจรชีวิตของข้อมูล (Data Lifecycle) เริ่มตั้งแต่ การสร้างข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้ การเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูล การจัดเก็บถาวร รวมถึงการทำลายข้อมูล ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าว จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลชุดนั้น ๆ เช่น ผู้กรอกข้อมูล เจ้าของข้อมูล ผู้ดูแลข้อมูล และผู้ใช้งานข้อมูล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเอกสารกลางที่ทำหน้าที่บอกรายละเอียดของข้อมูล เรียกว่าเป็น คำอธิบายข้อมูล (Metadata)
ประการสำคัญต่อมาคือ การจำแนกข้อมูล (Data Classification) เป็นการจำแนกข้อมูลเป็นลำดับชั้น โดยอาจประเมินจากความเสี่ยง และความจำเป็นในการใช้ข้อมูล โดยหลังจากมีการกำหนดลำดับชั้นที่เหมาะสม จะเข้าสู่กระบวนการด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล หรือ Data Security โดยการกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูล ตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูล และบันทึกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ข้อมูลรั่วไหล
นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดิน จะต้องดำเนินการตามมาตรฐานการประเมินคุณภาพข้อมูล ซึ่งสามารถอ้างอิงมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพข้อมูลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA2 ใน 6 มิติ คือ 1) ความถูกต้อง 2) ความเป็นปัจจุบัน 3) ความครบถ้วน 4) ความสอดคล้อง 5) ความพร้อมใช้ และ 6) ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งแต่ละมิติจะมีวิธีการประเมินแตกต่างกัน ได้แก่ ส่วนโครงสร้างที่สามารถวิเคราะห์ได้ด้วยฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และส่วนรายละเอียดเชิงลึกของข้อมูลที่จำเป็นต้องมีรายละเอียดจากเจ้าของข้อมูล หรือผู้ใช้งานข้อมูลเป็นผู้ตั้งข้อสังเกต ทั้งนี้ ในการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลใด ๆ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของข้อมูลก่อนการดำเนินการ
ทั้งนี้ การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) ด้านที่ดินและทรัพยากรดิน จะบรรลุผลสำเร็จได้จะต้องมีการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีวัฒนธรรมทั้งภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงานที่เอื้อต่อการกำกับดูแลข้อมูล มีการบังคับใช้และปฏิบัติตามกรอบแนวทางที่กำหนด มีการจัดทำบัญชีข้อมูล (Data Catalog) เพื่อใช้เป็นระบบกลางในการสืบค้นข้อมูล ตลอดจนการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินที่มีคุณภาพ นำไปสู่การบริหารจัดการที่ดินที่มีประสิทธิภาพ มีความเป็นเอกภาพอย่างยั่งยืน
อ้างอิง
1 พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 49 ก (14 เมษายน 2562)
2 Data Governance Framework. กรอบการกำกับดูแลข้อมูล เวอร์ชัน 1.0 คณะกรรมการศึกษากระบวนการธรรมาภิบาลและการเปิดเผยข้อมูลดิจิทัลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน เผยแพร่โดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เมื่อ 15 มิถุนายน 2561