การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนบก โดยเฉพาะทำให้เกิดการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ดินเสื่อมโทรม และผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ...

โดย นางสาวอณุภรณ์ วรรณวิเศษ

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอากาศเฉลี่ยในพื้นที่หนึ่งหรือความแปรปรวนของคุณสมบัติของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน โดยอาจเกิดจากธรรมชาติหรือกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น มีสาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลกจากกิจกรรมของมนุษย์ ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รูปแบบการตกของฝนแปรปรวน และเกิดสภาพอากาศรุนแรงบ่อยขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ อาทิ การตั้งถิ่นฐาน การเกษตร ป่าไม้ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และสุขภาพ เป็นต้น

รายงาน State of the Global Climate 2022 โดย World Meteorological Organization (2566) พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี ค.ศ. 2022 เพิ่มสูงขึ้น 1.15 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม (ค.ศ. 1850 – 1900) โดยปี ค.ศ. 2015 – 2022 เป็นช่วงแปดปีที่มีระดับอุณหภูมิของโลกสูงที่สุด เท่าที่มีการเก็บบันทึกข้อมูล 173 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกหลักสูงสุดในปี ค.ศ. 2021 (ปีล่าสุดที่มีข้อมูล) โดยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ระดับ 415.7 ppm มีเทน อยู่ที่ระดับ 1,908 ppb และไนตรัสออกไซด์ อยู่ที่ระดับ 334 ppb ตามลำดับ ขณะที่ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุด ในปี ค.ศ. 2022 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 3.4 มิลลิเมตรต่อปี นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2022 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับภูมิอากาศที่สำคัญ อาทิ การเกิดฝนตกหนักในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมในปากีสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,700 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 33 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ กว่า 30,000 ล้านบาท หรือเหตุการณ์คลื่นความร้อนรุนแรงในประเทศจีนและสหภาพยุโรป ทำให้มีผู้เสียชีวิตในสเปน เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และโปรตุเกส เป็นจำนวนกว่า 15,000 คน

บทบาทของที่ดินในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่ดินเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยเป็นแหล่งผลิตอาหาร น้ำ และบริการทางนิเวศอื่น ทั้งนี้ ภูมิอากาศและที่ดินมีปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนผ่านการแลกเปลี่ยนด้านชีวฟิสิกส์ เช่น น้ำ และพลังงาน หรือวัฏจักรชีวธรณีเคมี เช่น ก๊าซเรือนกระจก และสารมลพิษช่วงชีวิตสั้น (short-lived climate forcers) เป็นต้น นอกจากนั้น ชีวมณฑลทางบก (terrestrial biosphere) มีปฏิสัมพันธ์กับมหาสมุทรผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนของน้ำจืด สารอาหาร และคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการตกของฝน การเกิดคลื่นความร้อน และคุณภาพอากาศ โดยได้รับอิทธิพลจากภูมิอากาศของโลกหรือระดับภูมิภาค ความแปรปรวนของสภาพอากาศตามฤดูกาล สภาพอากาศรุนแรง และกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเกษตรกรรมและป่าไม้ การปลูกป่า หรือการที่ป่าไม้ถูกทำลาย เป็นต้น ทั้งนี้ ในทางกลับกันการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับที่ดินก็ส่งผลต่อองค์ประกอบของบรรยากาศของโลก อุณหภูมิผิวดิน วัฏจักรของน้ำ และภูมิอากาศของท้องถิ่น ภูมิภาค และของโลก ดังแสดงในภาพที่ 1

ภาพที่ 1: โครงสร้างและบทบาทของระบบนิเวศและที่ดินที่ส่งผลต่อภูมิกาศของท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก

จากภาพข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เมื่ออุณหภูมิของดินเพิ่มสูงขึ้นจากการดูดซับคลื่นแสงอาทิตย์และลดลงผ่านการส่งผ่านความร้อนจากผิวดินไปสู่บรรยากาศ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นผิวดิน รวมถึง การสะท้อนรังสีคลื่นสั้นและการปลดปล่อยรังสีคลื่นยาวโดยพืชชนิดต่าง ๆ ดิน และผิวน้ำ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของดินและประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นกระบวนการตามธรรมชาติ และการบริหารจัดการที่ดินโดยมนุษย์ โดยบริเวณพืชพรรณที่มีความหนาแน่นสูง เช่น ป่าไม้ จะสามารถดูดซับและส่งกลับพลังงานไปสู่บรรยากาศของโลกได้สูง นอกจากนั้น พืชยังแลกเปลี่ยนพลังงานกับบรรยากาศ โดยการคายน้ำ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณไอน้ำในอากาศและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการตกของฝนด้วย

การแลกเปลี่ยนของก๊าซเรือนกระจกระหว่างที่ดินและบรรยากาศเป็นปฏิสัมพันธ์ทางชีวธรณีเคมีที่เกิดจากสมดุลจากกระบวนการสังเคราะห์แสงและการหายใจของพืช และการย่อยสลายของสารอินทรีย์ ในดินโดยจุลินทรีย์ โดยคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศจะเปลี่ยนเป็นสารประกอบอินทรีย์โดยกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช นอกจากนั้น ดินยังปลดปล่อยมีเทนและไนตรัสออกไซด์สู่บรรยากาศด้วย โดยอุณหภูมิและความชื้นของดินจะส่งผลต่อการทำงานของจุลินทรีย์ที่ส่งผลต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสามชนิดนี้ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงหน้าดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยกิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ดินปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของปริมาณคาร์บอนในดิน ความชื้นของดิน และพืชพรรณบนดิน1

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อดิน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนบก โดยเฉพาะทำให้เกิดการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ดินเสื่อมโทรม และผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ยากจนในประเทศกำลังพัฒนา นักวิทยาศาสตร์พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้อุณหภูมิของอากาศเหนือผิวดินสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันอุณหภูมิของอากาศเหนือผิวดินสูงขึ้นประมาณ 1.44 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม2 (IPCC, 2019) โดยบริเวณที่มีความแห้งแล้งมีอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเป็น 2 เท่าของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และเมื่อรวมกับผลกระทบที่เกิดจากภัยแล้ง ที่นับวันจะทวีความรุนแรงและความถี่มากขึ้น จะส่งผลทำให้ความชื้นในดินลดลง และทำให้บริเวณที่แห้งแล้งขยายอาณาเขตออกไปและบริเวณเหล่านี้ยังจะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นกว่าบริเวณอื่น ๆ ด้วย นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ยังทำให้รูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไป และสถานการณ์สภาพอากาศรุนแรงและภัยพิบัติเกิดบ่อยขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อการผลิตการเข้าถึง และการบริโภคอาหารของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารในภาพรวมของโลก และท้ายที่สุด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศของโลก โดยเกิดการเปลี่ยนแปลง ต่อขนาด ถิ่นฐาน และความอุดมสมบูรณ์ของชนิดพืชและสัตว์ ทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ในทางกลับกัน นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อดินแล้ว การเปลี่ยนสภาพเป็นทะเลทราย การเสื่อมโทรมของดิน และกระบวนการผลิตอาหาร ก็ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงยิ่งขึ้น ผ่านการลดลงของพืชคลุมดินและป่าไม้ ทำให้การดูดซับและกักเก็บคาร์บอนโดยป่าไม้และดินลดลง และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจากภาคการใช้ประโยชน์ที่ดินและกระบวนการผลิต กักเก็บ ขนส่ง บรรจุภัณฑ์ แปรรูป จำหน่าย และบริโภคอาหาร

ในการนี้ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อดิน จึงควรส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนและสมดุล โดยกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการแปรสภาพเป็นทะเลทราย รวมถึงป้องกัน ลด และฟื้นฟูดินเสื่อมโทรม ตามหลักการ และมาตรการของ Land Degradation Neutrality (LDN) เพิ่มผลิตภาพของที่ดิน เพิ่มการกักเก็บคาร์บอน อินทรีย์ในดิน เพิ่มพืชปกคลุมดิน และลดปริมาณขยะอาหาร (food waste) เป็นต้น ทั้งนี้ การกำหนด นโยบายด้านที่ดินและทรัพยากรดินที่บูรณาการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะช่วยลดความเสี่ยง และความสูญเสียต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สนับสนุนประเทศในการบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ของความตกลงปารีส และนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566-2580)


อ้างอิง

1 Jia, G., E. Shevliakova, P. Artaxo, N. De Noblet-Ducoudré, R. Houghton, J. House, K. Kitajima, C. Lennard, A. Popp, A. Sirin, R. Sukumar, L. Verchot, 2019: Land–climate interactions. In: Climate Change and Land: an IPCC special report on climate change, desertification, land degradation, sustainable land management, food security, and greenhouse gas fluxes in terrestrial ecosystems [P.R. Shukla, J. Skea, E. Calvo Buendia, V. Masson-Delmotte, H.-O. Pörtner, D.C. Roberts, P. Zhai, R. Slade, S. Connors, R. van Diemen, M. Ferrat, E. Haughey, S. Luz, S. Neogi, M. Pathak, J. Petzold, J. Portugal Pereira, P. Vyas, E. Huntley, K. Kissick, M, Belkacemi, J. Malley, (eds.)]. https://doi.org/10.1017/9781009157988.004

2 IPCC, 2019: Climate Change and Land: an IPCC special report on climate change, desertification, land degradation, sustainable land management, food security, and greenhouse gas fluxes in terrestrial ecosystems [P.R. Shukla, J. Skea, E. Calvo Buendia, V. Masson-Delmotte, H.-O. Pörtner, D. C. Roberts, P. Zhai, R. Slade, S. Connors, R. van Diemen, M. Ferrat, E. Haughey, S. Luz, S. Neogi, M. Pathak, J. Petzold, J. Portugal Pereira, P. Vyas, E. Huntley, K. Kissick, M. Belkacemi, J. Malley, (eds.)]. In press. World Meteorological Organization, 2023. State of the Global Climate 2022. เข้าถึงได้จาก https://library.wmo.int/doc_num.php?explnum_id=11593


epetitions

complaint

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow
Slide