โดย นายอนุวัตร จินตกสิกรรม1
นางสาวพัทธนันท์ คล้ายกระแส2
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเป็นกรอบให้หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ นำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สามารถสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นท่ามกลางความหลากหลายได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทสังคมไทยและมีความเป็นสากล อันจะส่งผลให้ประเทศไทยมีบทบาทด้านความมั่นคงเป็นที่ชื่นชมและได้รับการยอมรับโดยประชาคมระหว่างประเทศ
แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 - 2570) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “สังคมไทยมีเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย มีสันติวัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ ได้แก่3
- เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในชาติอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี โดยใช้แนวทางสันติวิธี ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมของประเทศไทย
- เพื่อให้คนในชาติได้รับการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับการพัฒนาศักยภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมไปกับเสริมสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมของคนในชาติ
- เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย และการดำเนินการของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อให้มีการบริหารจัดการของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพภายใต้หลักธรรมาภิบาล สอดคล้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม
กลุ่มเป้าหมายในระยะ 5 ปีของแผนปฏิบัติการฉบับนี้ คือ คนในชาติที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม ประกอบด้วย (1) กลุ่มที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง (2) กลุ่มที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบ (3) กลุ่มที่อาศัยและตั้งถิ่นฐานตามหมู่เกาะหรือชายฝั่งทะเล และ (4) กลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ไว้ 4 แนวทาง ดังนี้
- แนวทางการดำเนินการที่ 1 การเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในชาติอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี โดยสันติวิธีภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม
- แนวทางการดำเนินการที่ 2 การส่งเสริมให้คนในชาติได้รับการประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน และได้รับการพัฒนาศักยภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชาติในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมให้ยั่งยืน
- แนวทางการดำเนินการที่ 3 การส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศ มีความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งการดำเนินงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
- แนวทางการดำเนินการที่ 4 การทบทวนความเหมาะสมของแนวทางการบริหารจัดการเชิงนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมาตรการของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดรับต่อการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการบริหารจัดการของภาครัฐได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้หลักธรรมาภิบาล
สำหรับกลไกการบริหารจัดการของแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) ประกอบด้วย 2 กลไกหลัก ได้แก่
- กลไกภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ผ่านกลไกระดับนโยบาย ได้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และคณะกรรมการร้อยกรองงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกลไกระดับอำนวยการ ได้แก่ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม (อบ.พว.) และคณะอนุกรรมการประเมินสถานการณ์และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม (อปก.พว.)
- กลไกการปฏิบัติ ซึ่งได้ระบุหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ จำแนกตามแนวทางการดำเนินการและกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการฉบับนี้ โดยแบ่งเป็น (1) กลไกตามแนวทางการดำเนินการทั้ง 4 แนวทาง ซึ่งกำหนดให้มีหน่วยงานในส่วนกลาง ทั้งระดับกระทรวงและระดับกรมที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานร่วมรับผิดชอบ รายละเอียดตามตารางที่ 1 และ (2) กลไกระดับพื้นที่ จำแนกตามกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งกำหนดให้มีหน่วยงานในส่วนกลางระดับกระทรวงเป็นหน่วยงานหลัก โดยมีจังหวัด/หน่วยงานในจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานดำเนินการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้ รายละเอียดตามตารางที่ 2
จากรายละเอียดและสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) ข้างต้น พบว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในหน่วยงานร่วมรับผิดชอบแนวทางการดำเนินการที่ 4 ในกลยุทธ์ที่ 3 ภายใต้แนวทางการดำเนินการดังกล่าว ที่ได้กำหนดให้ “เร่งรัดกระบวนการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) การสำรวจเขตพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยนำมาตรการทางกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม”4 ซึ่งในประเด็นนี้ สคทช. ได้กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ รับผิดชอบการดำเนินการในประเด็นนี้ของแผนปฏิบัติการฯ ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
แผนปฏิบัติการฉบับนี้ยังได้กำหนดรายละเอียดและสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ สคทช. ไว้ในระดับกลยุทธ์ภายใต้แนวทางการดำเนินการของแผนปฏิบัติการฯ แม้ว่าจะไม่ได้ระบุให้ สคทช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักหรือหน่วยงานร่วมรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนก็ตาม เช่น แนวทางการดำเนินการที่ 1 ในกลยุทธ์ที่ 4 ที่กำหนดให้ “สนับสนุนให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมและข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา อาทิ การจัดสรรที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ โดยอาศัยกระบวนการยุติธรรม และการระงับข้อพิพาทตามแนวทางสันติวิธี ตลอดจนอาศัยความร่วมมือด้านข้อมูลทางวิชาการจากผู้รู้หรือผู้นำทางจิตวิญญาณในพื้นที่” และแนวทางการดำเนินการที่ 2 ในกลยุทธ์ที่ 3 ที่กำหนดให้ “ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชาติในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและความหลากหลาย ปลูกฝังให้ประชาชนมีจิตสาธารณะ รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ผืนป่า โดยยึดแนวพระราชดำริที่ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ อาทิ การให้คนอยู่ร่วมกับป่า ตลอดจนรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม และผลประโยชน์แห่งชาติ ด้วยจิตสำนึกและความรู้สึกในการเป็นเจ้าของ รวมทั้งการรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเองและต่อผู้อื่น” และกลยุทธ์ที่ 4 ที่กำหนดให้ “ส่งเสริมการจัดระเบียบพื้นที่ จัดถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ทำกินตามแนวทางการอยู่ร่วมกันของคนและป่า และพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตให้มีทางเลือกทางอาชีพที่เหมาะสม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในการรักษาความมั่นคง โดยการจัดโครงการที่มีความสอดคล้องกับพื้นที่ เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ และโครงการยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เนื่องจาก คทช. ได้กำหนดให้มีนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 การกำหนดพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน รวมถึงได้กำหนดให้มีมาตรการและกลไกในการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาข้อพิพาทและความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน เพื่ออำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนสำหรับเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหา
จะเห็นได้ว่า แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) ของ สมช. ได้กำหนดให้ สคทช. เป็นหนึ่งในหน่วยงานร่วมรับผิดชอบการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาภายใต้แผนปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ และสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการฉบับนี้ถือได้ว่ามีความสอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) และแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2570) รวมถึงภารกิจ หน้าที่ และอำนาจของ สคทช. ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศบรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นเอกภาพ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงระหว่างภารกิจของ สคทช. กับนโยบายและแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างบูรณาการและสอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน
อ้างอิง
1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
3 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (2566). แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570).
4 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. แผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย, หน้า 80.