โดย นางสาวสิริลักษณ์ จันทร์แจ่มศรี1
นายภิชชากรณ์ วงศ์ทองดีปี่แก้ว2
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน ในบทความนี้จะขอพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ก่อนอื่นเลยต้องเล่าให้ทุกท่านฟังก่อนว่าเกิดปัญหาอะไรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจนรัฐบาลต้องหาวิธีการมาจัดการปัญหาในพื้นที่นี้
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ คืออะไร
ที่ดินของรัฐมีด้วยกันหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีการออกกฎหมายโดยหน่วยงานที่ดูแลรักษาพื้นที่ เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมธนารักษ์ เป็นต้น แต่ละหน่วยงานจะประกาศและแสดงแนวเขตพื้นที่ที่ตนเองดูแล และป่าสงวนแห่งชาติก็เป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่งที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ โดยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ คือ ป่าที่ได้กำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการในการคุ้มครอง ป้องกัน รักษาสภาพป่าไม้ ของป่า และบำรุงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ
ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
- มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541
ในอดีตที่ผ่านมามีราษฎรเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าและอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเป็นจำนวนมาก ประกอบกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดิน ได้ประกาศแนวเขตทับซ้อนกันหลายหน่วยงาน เช่น บางพื้นที่เป็นทั้งป่าไม้และที่สงวนหวงห้ามของราชการทหาร บางแห่งเป็นทั้งป่าไม้และที่ราชพัสดุ บางแห่งเป็นทั้งพื้นที่ป่าไม้และที่สาธารณประโยชน์ ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติได้เล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้กรมป่าไม้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน และกรมธนารักษ์ เป็นต้น เพื่อตรวจสอบราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่และดำเนินการจำแนกแยกแยะแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน ซึ่งภายหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กรมป่าไม้ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบแต่ละพื้นที่ โดยได้ดำเนินการอ่านแปลจากภาพถ่ายทางอากาศสี (Ortho Photo) เมื่อปี 2545 เพื่อดูร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งแบ่งพื้นที่ตามลุ่มน้ำชั้นที่ 1, 2, 3, 4 และ 5 หลังจากที่กรมป่าไม้ได้จำแนกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแล้วเสร็จก็ได้กำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามชั้นลุ่มน้ำ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 และ 2- เป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ ควรจ่ายค่าชดเชย หรือเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ต้นน้ำ
- กรณีรอการเคลื่อนย้ายให้ควบคุมพื้นที่อย่างเข้มงวดโดยจัดให้อยู่อาศัยในรูปแบบหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ระดับ 1
- อนุญาตให้อยู่อาศัยทำประโยชน์ในลักษณะเป็นกลุ่ม/ชุมชนโดยจัดอยู่ในรูปแบบหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ระดับ 2
- คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 และที่ 66/2557
สำหรับการแก้ไขปัญหาราษฎรที่บุกรุกในพื้นที่ป่าไม้เพื่ออยู่อาศัยทำกินหลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 (หลังปี 2545) ซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกรุกรายใหม่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉียบขาด(ทวงคืน/จับกุม) และให้กรมป่าไม้นำพื้นที่เหล่านี้มาฟื้นฟูสภาพป่าโดยเร็ว กรณีมีพืชผลอาสิน หากเป็นพืชเก็บเกี่ยวได้ในรอบฤดูกาล ให้อาศัยอยู่ได้จนเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว หากเป็นพืชยืนต้น เช่น ยางพารา และไม้ผลชนิดอื่น ๆ เป็นต้น ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ภายใต้กฎหมายและระเบียบ หากฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 สั่ง ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ โดยให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สํานักงานตํารวจแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองกําลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองกําลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก และกองทัพเรือ ตลอดจนหน่วยงานที่มีภารกิจและอํานาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือครอบครอง ทําลาย หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่า รวมทั้งผู้สมคบและสนับสนุนช่วยเหลือ ให้ได้ผลอย่างจริงจังในทุกพื้นที่ รวมทั้งสกัดกั้นการลักลอบตัดไม้มีค่าหรือไม้หวงห้าม การนําเข้าและส่งออกไม้ที่ผิดกฎหมายตลอดแนวชายแดน ตลอดจนปราบปรามเครือข่ายขบวนการตัดไม้ทําลายป่าในทุกหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 สั่ง ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยมีสาระสำคัญเพื่อให้การดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกรายใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ กรณีใด ๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการที่กำหนด อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกของราษฏรในพื้นที่ได้ เนื่องจากยังมีราษฎรรายใหม่เข้าไปอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้เสนอเรื่องการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาราษฎรอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าไม้อย่างผิดกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 เห็นชอบหลักการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวมโดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติกำหนดในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม โดยการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของประเภทที่ดินกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ ข้อกำหนด หรือเงื่อนไขภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอเพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นหลักการจัดที่ดินทำกินในที่ดินของรัฐทุกประเภท รวมถึงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติด้วย แต่ยังไม่มีการกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) - มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ผ่านการสำรวจจากกรมป่าไม้โดยได้ดำเนินการอ่านแปลจากภาพถ่ายทางอากาศสี (Ortho Photo) เมื่อปี 2545 ยังคงมีราษฎรอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1, 2 จำนวน 2.1 ล้านไร่ และนอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ระหว่างปี 2545 – 2557 อยู่อีกส่วนหนึ่ง เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3, 4, 5 จำนวน 3.7 ล้านไร่ และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1, 2 จำนวน 2.8 ล้านไร่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้เสนอกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) หรือที่เรารู้จักในชื่อ“รถไฟ 5 ขบวน” เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม โดยมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบกรอบมาตรการดังกล่าว แต่ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งก็คือรถไฟขบวนที่ 1 ถึงขบวนที่ 3
รถไฟขบวนที่ 1 (กลุ่ม 1) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3, 4, 5 ก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นการนำพื้นที่ที่กรมป่าไม้ได้ทำการสำรวจรังวัดแปลงที่ดินไว้แล้วตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำนวน 3.9 ล้านไร่
รถไฟขบวนที่ 2 (กลุ่ม 2) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3, 4, 5 หลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำนวน 3.7 ล้านไร่
รถไฟขบวนที่ 3 (กลุ่ม 3) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1, 2 ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1, 2 ก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำนวน 2.1 ล้านไร่
กรณีที่ 2 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1, 2 หลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำนวน 2.8 ล้านไร่โดยพื้นที่ในแต่ละกลุ่มจะมีกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทํากินในพื้นที่ป่าไม้ และสรุปมาตรการการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามตารางดังนี้
สำหรับมาตรการการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กลุ่ม 3 ชุมชนที่อยู่ในลุ่มน้ำ ชั้น 1, 2 ปัจจุบันกรมป่าไม้มีการกำหนดเงื่อนไขในการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง แบ่งเป็นกรณีประชาชนอยู่ก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้ปลูกป่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ และกรณีประชาชนอยู่หลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้ปลูกป่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่
ประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนได้รับ
จากการดำเนินการตามกรอบมาตรการการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศ ดังนี้
- สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินที่มีราษฎรใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ให้สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้ถูกต้อง เหมาะสมอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงในการอยู่อาศัยและทำกินส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ภาครัฐก็ไม่ได้เสียความเป็นเจ้าของพื้นที่เหล่านั้นไป
- ภาครัฐสามารถเข้าไปดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ผ่านกลไกคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด แตกต่างจากเดิมที่ชุมชนที่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาอาชีพใด ๆ
- สร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนและหน่วยงานรัฐได้ร่วมกันดูแลรักษาและใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างยั่งยืนในลักษณะที่เกื้อกูลต่อการอนุรักษ์ เกิดความร่วมมือในการฟื้นฟูสภาพป่า ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศเพิ่มขึ้น เป็นการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดความสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
เป็นอย่างไรบ้างท่านผู้อ่าน มาถึงตรงนี้แล้วทุกท่านก็ได้ทราบและเข้าใจถึงแนวทางและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกันแล้ว
สุดท้ายนี้ ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ในพื้นที่ของรัฐอื่นได้จากเล่มคู่มือการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทางเว็บไซต์ https://www.onlb.go.th และ Facebook fanpage : สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติ
1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
เอกสารอ้างอิง
กรมป่าไม้. (2563). คู่มือการปฏิบัติงานในการสำรวจการครอบครองในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร: ทิพย์เนตรการพิมพ์.
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทํากินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541. เข้าถึงเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2566 จาก https://shorturl.asia/CptUZ.
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 5 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: บริษัท ต้นคิด ครีเอท จำกัด.