โดย นางสาวสุฑาทิพย์ จันทร์ศักดา
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานนโยบายและแผน
“ดัชนีชี้วัด”นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการประเมินผลสถานการณ์ ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพ และระดับความสำเร็จของการดำเนินงานว่าบรรลุตามค่าเป้าหมายมากน้อยเพียงใด ผ่านการประเมินผลที่ชัดเจน ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการนำดัชนีชี้วัดมาใช้เพื่อบ่งชี้สถานการณ์การดำเนินงานในหลายด้าน เช่น ดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) และดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index: EPI) เป็นต้น อย่างไรก็ตามดัชนีชี้วัดด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรดินยังไม่ได้มีการกำหนดให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ หากสามารถกำหนดดัชนีชี้วัดที่สะท้อนสถานการณ์ในภาพรวมจะทำให้ทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาและเป็นกรอบทิศทางในการชี้นำการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน อนุรักษ์ และคุ้มครองทรัพยากรดินสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสอดประสานการดำเนินการร่วมกันในการสร้างความยั่งยืนด้านที่ดินและทรัพยากรดิน
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จึงได้มีการดำเนินการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Land & Soil Sustainability Index: LSSI) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562ตามมาตรา 10 (2) และ (3) ในการกำหนดมาตรการในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ และการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพที่ดินและศักยภาพที่ดิน1 รวมทั้งเป็นการดำเนินการภายใต้กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2564 ในข้อ 9 (4) ที่กำหนดให้กองยุทธศาสตร์และแผนงานมีหน้าที่ในการวิเคราะห์และพัฒนาเกณฑ์หรือดัชนีชี้วัดผลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในมิติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืน2 โดยการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีเป้าหมายในการจัดทำดัชนีชี้วัดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดินในระดับมหภาคที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นการสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินสถานการณ์และแนวโน้มความยั่งยืนด้านที่ดินและทรัพยากรดินในอนาคต ตลอดจนเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการทบทวน ปรับปรุง จัดลำดับความสำคัญ และกำหนดนโยบายและแผน แนวทางขับเคลื่อน เครื่องมือ กลไก และแผนงานด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ3
การดำเนินการเพื่อให้ได้ดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินที่เหมาะสม สามารถใช้งานได้จริง และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีกระบวนการรวมทั้งสิ้น 16 ขั้นตอน (ตามแผนภาพที่ 1) โดยสามารถสรุปเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ 1) การทบทวนแผนทั้ง 3 ระดับ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในระดับสากล 2) การนำข้อมูลที่ได้จากการทบทวนมาใช้ประกอบการยกร่างตัวชี้วัดที่ครอบคลุม ทั้งในมิติการใช้ประโยชน์ที่ดินและมิติทรัพยากรดิน และ 3) การจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงความเป็นไปได้ในบริบทของประเทศไทย และเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของรายการข้อมูลที่จะมีการจัดเก็บจากหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องในการจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน โดยนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายของประเด็นนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580)4 เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวชี้วัดสุดท้ายที่เกิดการยอมรับร่วมกันในรายละเอียดของตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก และค่าเป้าหมาย รวมถึงรายการชุดข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ภายใต้ตัวชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินด้วย
ดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด 2 มิติหลัก (Dimension) ได้แก่ มิติความยั่งยืนของการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Sustainability: LUS) และมิติความยั่งยืนของทรัพยากรดิน (Soil Resources Sustainability: SRS) ซึ่งกำหนดประเด็นที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของความยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ในแต่ละมิติ ผ่านเสาหลัก (Pillar) จำนวน 7 เสาหลัก กล่าวคือ ภายใต้มิติหลักที่ 1 มิติความยั่งยืนของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ (1) ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) การกำกับดูแลที่ดี (3) การสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และ (4) การเพิ่มผลิตภาพ และภายใต้มิติหลักที่ 2 มิติความยั่งยืนของทรัพยากรดิน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) การลดความเสื่อมโทรม (2) การเพิ่มคุณภาพดิน และ (3) การจัดการเพื่อความยั่งยืน โดยดำเนินการประเมินผ่านตัวชี้วัดสำคัญที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมจำนวน 20 ตัวชี้วัดหลัก (ตามแผนภาพที่ 2) ซึ่งประกอบด้วย 87 รายการชุดข้อมูลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณากำหนดเกณฑ์การประเมินที่มีความสอดคล้อง (Relevance) และเชื่อมโยงสนับสนุนกัน (Coherence) โดยประกอบด้วยเกณฑ์หลัก คือ เกณฑ์ประสิทธิผล (Effectiveness) ที่สามารถนำมาใช้วัดได้ทั้งในระดับผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) รวมทั้งเกณฑ์ผลกระทบ (Impact) ที่เกิดจากการพัฒนาหรือการริเริ่มต่าง ๆ ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
การกำหนดแนวทางการวัดภายใต้ดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินไม่ได้มีเป้าหมายที่จะตัดสินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องในการจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน แต่มีเป้าหมายเพื่อการรายงานสถานการณ์การจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งดัชนีชี้วัดในแต่ละรายการจะเป็นการวัดแบบผสม (Composite Measure) ที่สามารถแยกและวิเคราะห์ได้อย่างอิสระ ผ่านการเปรียบเทียบสถานการณ์การจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในปีที่ทำการประเมินผล เปรียบเทียบกับค่าอ้างอิงในปีที่ถูกกำหนดให้เป็นปีฐาน (Baseline) และเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปีก่อนหน้า โดยมีเป้าหมายให้สถานการณ์ด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรดินดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บนกรอบยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านแนวทางการจัดเก็บชุดข้อมูลตามตัวชี้วัดภายใต้เสาหลักดัชนีชี้วัดดังกล่าวเป็นการดำเนินการในระยะเริ่มต้น ซึ่งยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้มีความสมบูรณ์และถูกต้องบนหลักวิชาการต่อไป โดย สคทช. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสะท้อนระดับความก้าวหน้าของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจประกอบการทบทวน ปรับปรุง และกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน เครื่องมือและกลไกด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน
1 พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 49 ก (14 เมษายน 2562).
2 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2564, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 54 ก (27 สิงหาคม 2564).
3 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน.
4 นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141 ตอนพิเศษ 32 ง (10 กุมภาพันธ์ 2566).