สภาพปัญหาข้อจำกัดในปัจจุบันและทิศทางแนวโน้มในอนาคตของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย ...
โดย นางสาวปาริชาติ อินสว่าง1
นายอนุวัตร จินตกสิกรรม2
นายเอกชัย ระดาพัฒน์3
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินของรัฐ รวมทั้งการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ4 โดยที่ผ่านมา คทช. ได้กำหนดให้มีนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 25665 โดยมุ่งหวังให้เป็นกรอบนโยบายหลักในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศระยะ 15 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งผลให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ โดยบทความฉบับนี้ผู้เขียนจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาและข้อจำกัดในปัจจุบันที่ส่วนหนึ่งได้ถูกระบุไว้ในนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศดังกล่าว เพื่อนำมาสู่การคาดการณ์ทิศทางและแนวโน้มในอนาคตของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย6 ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจสถานการณ์ด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในภาพรวม สำหรับเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการร่วมกันกำหนดแนวทางในการดำเนินการและบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในอนาคตต่อไป
ในอดีตที่ผ่านมาการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทยมีปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ การใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมาะสมและตรงตามศักยภาพของพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดิน การขาดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน การชะล้างพังทลายของดิน รวมถึงปัญหาด้านการบริหารจัดการที่ไม่เป็นเอกภาพ แม้ว่าต่อมาจะได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์และสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก โดยในนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) ได้ระบุประเด็นปัญหาหลักของการใช้ที่ดินและทรัพยากรดินในภาพรวมของประเทศไว้ทั้งสิ้น 7 ประเด็นปัญหาหลัก ประกอบด้วย (1) การสงวนและคุ้มครองที่ดินของรัฐ (2) การใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศ (3) ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรดิน (4) ปัญหาด้านการบริหารจัดการที่ดินของประเทศ (5) สถานการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ (6) ความต้องการใช้พลังงาน และ (7) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ7
สภาพปัญหาและข้อจำกัดในปัจจุบันของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
จากประเด็นปัญหาหลักที่ถูกระบุไว้ในนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) ดังที่กล่าวมาข้างต้น สามารถนำมาจัดกลุ่มประเด็นปัญหาและสาเหตุของปัญหาและข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย ได้ดังนี้
- สภาพปัญหาและข้อจำกัดของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
- ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงที่ดิน ประเทศไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินและทรัพย์สินต่าง ๆ ตามระดับของรายได้ที่แตกต่างกัน โดยยุทธศาสตร์กรมป่าไม้ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ระบุว่า การกระจายการถือครองที่ดินในประเทศไทยยังไม่เหมาะสมและเป็นธรรม ประกอบกับผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2556 – 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินยังคงอยู่ในระดับสูง โดยการถือครองบ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบธุรกิจ/เกษตร เป็นประเภททรัพย์สินที่มีความไม่เสมอภาคมากที่สุด และกลุ่มประชากร ร้อยละ 10 ที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งมูลค่าทรัพย์สินเฉลี่ยร้อยละ 34.7 ของมูลค่าสินทรัพย์รวม ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด มีส่วนแบ่งมูลค่าทรัพย์สินเพียงร้อยละ 3.4 ของมูลค่าสินทรัพย์รวม ทำให้มีความแตกต่างระหว่างประชากรทั้งสองกลุ่มอยู่ที่ 10.2 เท่า8
- การกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน เป็นประเด็นปัญหาที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินที่ไม่เสมอภาคกัน ซึ่งจากการศึกษาของดวงมณี เลาวกุล (2555) พบว่า ในปี พ.ศ. 2555 กลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีการถือครองที่ดินประเภทโฉนดที่ดินสูงสุดถือครองที่ดินกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนที่ดินประเภทโฉนดที่ดินทั้งหมด ทำให้ความแตกต่างในการถือครองที่ดินในกลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่ถือครองที่ดินสูงสุดกับกลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่ถือครองที่ดินต่ำสุด มีความแตกต่างกันถึง 853.64 เท่า ทั้งนี้ ขนาดการถือครองที่ดินของผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด มีที่ดินรวมกันทั้งสิ้น 631,263 ไร่ ในขณะที่ประชากรร้อยละ 50 ถือครองที่ดินเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ไร่9
- การไร้ที่ดินทำกิน ข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ไร้ที่ดินทำกินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ช่วงปี พ.ศ. 2557 – 2561 พบว่า มีผู้ขึ้นทะเบียนผู้ไร้ที่ดินทำกินประมาณ 823,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 386,000 ราย (ร้อยละ 46.95) ส่วนภาคอื่นๆ มีผู้ขึ้นทะเบียนประมาณ 140,000 – 150,000 ราย10 โดยในเอกสารสรุปรายงานสถานการณ์ถือครองที่ดินและสาเหตุการสูญเสียที่ดินของเกษตรรายย่อยในประเทศไทย ได้สรุปประเภทของผู้ไร้ที่ดินทำกินไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ไม่เคยมีที่ดินทำกินมาก่อน กรณีนี้เกิดจากพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ยากจน ไม่มีที่ดินทำกินอยู่แล้วหรือมีที่ดินแต่ได้ยกให้ลูกคนอื่น ๆ หรือได้สูญเสียกรรมสิทธิ์ที่ดินไปก่อนหน้า และกลุ่มที่ 2 เคยมีที่ดินเป็นของตนเอง แต่มีการสูญเสียที่ดินภายหลัง11 ทั้งนี้ ผลกระทบของการไร้ที่ดินทำกินหรือการสูญเสียที่ดินทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐอย่างที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน การอพยพย้ายถิ่นเข้าสู่เมือง การเช่าที่ดินเอกชน รวมถึงเกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
- การบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการไร้ที่ดินทำกินหรือการไม่มีที่ดินทำกินที่เพียงพอของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเอกชน และปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดิน12 ปัจจุบันมีการบุกรุกที่ดินของรัฐในที่ดินของรัฐหลายประเภท เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ป่าอนุรักษ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ป่าชายเลน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมที่ดิน เป็นต้น
- การทับซ้อนของแนวเขตที่ดินของรัฐ ประเทศไทยมีที่ดินของรัฐอยู่ประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานภายใต้อำนาจตามกฎหมายต่างฉบับกัน ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต่างมีการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยมีการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐบนแผนที่ในมาตราส่วนที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เมื่อมีการนับรวมที่ดินของรัฐทุกประเภทแล้วมีพื้นที่รวมที่มากกว่าพื้นที่ประเทศไทย อีกทั้งในการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐในแต่ละประเภทก็ยังมีการทับซ้อนกับที่ดินของเอกชนหรือที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนอีกด้วย
- การใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามศักยภาพของที่ดิน ปัญหาเกี่ยวกับที่ดินที่มีการถือครองทั้งหน่วยงานของรัฐและประชาชน ได้แก่ การใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ตรงตามศักยภาพของที่ดิน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเสียโอกาสในการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งบางปัญหาอาจเกิดจากการได้รับการจัดสรรจากรัฐแล้วทำประโยชน์ในที่ดินไม่ได้ โดยเกิดจากปัญหาของดินที่ไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร เช่น ดินแข็งเกินไป หรือเป็นดินทราย เป็นต้น
- การทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน ผลการสำรวจที่ดินที่ถูกทิ้งร้างของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2561 โดยกรมพัฒนาที่ดิน พบว่ามีพื้นที่ทิ้งร้างทั้งประเทศรวม 6,340,429 ไร่ หรือร้อยละ 1.98 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีที่ดินที่ถูกทิ้งร้างมากที่สุด 2,794,451 ไร่ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงกว่า 2.1 ล้านไร่ หรือร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2556 แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ก็ตาม แต่ก็ยังมีช่องโหว่ในการบังคับใช้กฎหมายอยู่หลายประการ ทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีที่ส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้13
- ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรดิน สภาพปัญหาของทรัพยากรดินเกิดขึ้นทั้งจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ โดยกรณีสาเหตุเกิดจากธรรมชาตินั้นอาจจะเกิดขึ้นจากกรณีที่ทรัพยากรดินมีแร่ธาตุอาหารน้อยเกินไปหรือมีสภาพเป็นดินเปรี้ยวหรือดินเค็ม ส่วนกรณีสาเหตุเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น มีการทำการเกษตรด้วยการใช้สารเคมีทางการเกษตร และการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อคุณภาพของดินโดยตรง ในขณะที่การสูญเสียของดินในระดับปานกลางและระดับรุนแรง พบในบริเวณพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ14 รวมถึงการใช้ที่ดินสำหรับประกอบอุตสาหกรรมและมีการใช้สารเคมีบางอย่างและต่อมามีการรั่วไหล ตกค้าง และปนเปื้อนในที่ดินจนส่งผลให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรมจากการที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีอย่างอื่น นอกจากนี้ ดินปนเปื้อนอาจเกิดจากการประกอบเกษตรกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น มีการใช้ที่ดินทำบ่อเลี้ยงกุ้งหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำทำให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำเกลือในดิน เป็นต้น
- สาเหตุของปัญหาและข้อจำกัดของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
จากปัญหาเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดินที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ระบบการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศยังมีข้อจำกัดทางด้านกลไกและเครื่องมือเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อนำไปสู่เอกภาพเชิงนโยบาย ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งสามารถวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและข้อจำกัดของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินได้เป็น 5 ลักษณะ ดังนี้- สาเหตุที่เกิดขึ้นจากนโยบายและมาตรการภาครัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐยังคงมีปัญหาและข้อจำกัดเนื่องจากการขาดความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั้งนี้ ลักษณะของสาเหตุที่เกิดขึ้นจากนโยบายและมาตรการภาครัฐสามารถพิจารณาได้ใน 2 ลักษณะ ดังนี้
- การขาดแผนแม่บทด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินที่ทุกหน่วยงานยอมรับและถือปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างแท้จริง รวมถึงยังขาดกลไกในการขับเคลื่อนและดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แม้ว่าปัจจุบันจะได้มีการประกาศใช้นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) และแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2570) แล้วก็ตาม แต่ยังคงขาดการกำหนดแผนงาน/แผนงบประมาณบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยังขาดกฎหมายที่มีสภาพบังคับที่จะเอื้อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามอย่างสอดประสานและบูรณาการกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบายของฝ่ายการเมือง อันเนื่องมาจากการขาดเสถียรภาพของรัฐบาล และแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของรัฐบาลในแต่ละช่วงที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ขาดความเป็นเอกภาพและความยั่งยืนในการบริหารจัดการ เช่น บางรัฐบาลเลือกแก้ไขปัญหาโดยใช้นโยบายโฉนดชุมชน บางรัฐบาลใช้นโยบายโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร (โฉนด ส.ป.ก.) และบางรัฐบาลใช้นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เป็นต้น ดังนั้น การที่รัฐบาลแต่ละชุดมีนโยบายด้านที่ดินเป็นของตนเอง ซึ่งมักวางอยู่บนหลักการที่แตกต่างและขัดแย้งกัน เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลทำให้นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ที่ไม่มีความเป็นเอกภาพและการปฏิบัติขาดความต่อเนื่อง
- สาเหตุที่เกิดขึ้นจากกฎหมายและการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎหมายถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารจัดการที่ดิน เช่น การกำหนดสิทธิในที่ดิน รูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดิน รวมทั้งการกำหนดให้อำนาจหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการที่ดิน ตลอดจนการกำหนดข้อห้ามและข้อปฏิบัติในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดทางกฎหมายก็เป็นสาเหตุที่ทำให้การบริหารจัดการที่ดินไม่เป็นเอกภาพได้ใน 3 ลักษณะ ประกอบด้วย
- กฎหมายบางมาตราไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเขตป่าและที่ดิน บางฉบับไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเป็นระบบ ไม่มีมาตรการที่เพียงพอหรือเหมาะสม เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินที่เกิดจากกฎหมายปิดปากเนื่องจากมิได้คัดค้านหรือโต้แย้งหรือขอแสดงสิทธิในที่ดิน ยกตัวอย่างบทบัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดินและพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 250715 ที่กำหนดว่าบุคคลที่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจะต้องมาคัดค้านการประกาศเขตป่าหรือขอให้มีการออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะถือว่าอยู่ในเขตป่าหรือป่าสงวนแห่งชาติโดยผิดกฎหมาย ปัญหาความแตกต่างของการใช้และการตีความกฎหมายตามภารกิจหน่วยงาน ยกตัวอย่างเช่น การตีความกฎหมายตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 248416 ว่า “ที่ป่า” รวมถึง ถนน แม่น้ำ ตลาดสด ซึ่งเป็นการตีความความหมายของคำว่าป่าอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินของรัฐด้วย เป็นต้น
- การขาดเครื่องมือทางกฎหมายและมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มุ่งไปยังการจัดสรรที่ดินอย่างเหมาะสมในทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการใช้ที่ดินในอนาคต
- ข้อจำกัดจากการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายด้านการผังเมืองและการใช้พื้นที่ โดยปัญหาสำคัญด้านการวางผังเมืองมีขั้นตอนการจัดทำผังเมืองที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอนค่อนข้างมาก ทำให้ผังที่ประกาศใช้มีความล้าสมัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด จนก่อให้เกิดการขยายตัวของชุมชนเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างไร้ทิศทาง ทำให้การควบคุมการใช้พื้นที่ของประเทศยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
- สาเหตุที่เกิดขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของระบบฐานข้อมูลภาครัฐ แม้ว่าปัจจุบันจะมีหน่วยงานภาครัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดินอยู่หลายหน่วยงาน แต่ก็ยังมีปัญหาในการดำเนินการ คือ หน่วยงานต่าง ๆ ยังขาดการบูรณาการฐานข้อมูลการใช้ที่ดินของประเทศขาดการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอและถือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อมูล หรือลักษณะข้อมูลของแต่ละหน่วยงานที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลที่แตกต่างกัน ทำให้มีความยากในการนำข้อมูลมาเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์หรือนำไปต่อยอดในการใช้ประโยชน์ได้ เช่น การจำแนกพื้นที่ป่าไม้เพื่อการบริหารจัดการ (Zoning) ยังไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริงในปัจจุบันฐานข้อมูลผู้ใช้ประโยชน์และผู้ครอบครองในพื้นที่ป่าไม้และที่ดินของรัฐประเภทอื่นยังไม่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน แม้ว่าปัจจุบัน สคทช. ในฐานะหน่วยงานที่ต้องดำเนินการเพื่อจัดให้มีการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเพื่อการวางแผนเชิงนโยบาย ตามมาตรา 10 (9) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จะได้มุ่งดำเนินการในเรื่องนี้มาบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคอยู่หลายประการที่ต้องมุ่งแก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ของระบบฐานข้อมูลภาครัฐดังกล่าว
- สาเหตุที่เกิดขึ้นจากการไม่มีแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของรัฐที่มีมาตรฐานกลาง ปัญหาการทับซ้อนกันของแนวเขตที่ดินของรัฐมีผลทำให้การบริหารจัดการการใช้ที่ดินของแต่ละหน่วยงานเกิดความไม่ชัดเจนและไม่เป็นเอกภาพ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับที่ดินและกฎหมายที่ให้อำนาจจัดการได้กำหนดเงื่อนไขการใช้พื้นที่แตกต่างกัน โดยในช่วงที่ผ่านมา สคทช. มีบทบาทในการจัดทำระบบแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ One Map เนื่องจากหากไม่มีแผนที่กลางที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ ปัญหาเรื่องการทับซ้อนกันของแนวเขตที่ดินของรัฐหลายหน่วยงาน รวมถึงการทับซ้อนแนวเขตกับที่ดินของเอกชนจะยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการบริหารจัดการที่ดินในภาพรวมของประเทศไทยด้วย
- สาเหตุที่เกิดขึ้นจากความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงที่ดิน การกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน การไร้ที่ดินทำกิน และการบุกรุกที่ดินของรัฐล้วนมีสาเหตุมาจากความยากจน จากการสำรวจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2564)17 พบว่า มีคนยากจนรวมทั้งประเทศประมาณ 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน คนยากจนร้อยละ 6.32 ลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วนคนยากจนร้อยละ 6.83 ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีจำนวนประมาณ 1.24 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.79 ของครัวเรือนทั้งหมด ส่วนปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ เกิดจากการกระจุกตัวของการครอบครองที่ดินและการกักตุนที่ดินโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่เพื่อเก็งกำไร ทำให้เกิดปัญหาราคาที่ดินแพงและมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถซื้อที่ดินมาครอบครองได้ รวมทั้งเกษตรกรมักนำที่ดินไปค้ำประกันสินเชื่อ และไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ ทำให้ที่ดินหลุดมือไปสู่กลุ่มนายทุนสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่เพียงพอเพื่อชำระหนี้ ส่งผลให้การถือครองที่ดินของเกษตรกรลดลง จากการถูกบังคับคดี/หลุดจำนอง ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อช่วยรักษาที่ดินภาคเกษตรไว้ในมือเกษตรกรรายย่อยต่อไป รวมถึงประเด็นปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรในประเทศไทย ที่แม้ในตอนแรกจะมีการถือครองที่ดินอยู่ตามกฎหมาย แต่เพราะความยากจนก็ทำให้จำเป็นต้องปล่อยให้ที่ดินเหล่านั้นหลุดมือไปอยู่กับนายทุน แต่ด้วยความที่ยังคงต้องการที่ดินเพื่อทำการเกษตรเลี้ยงชีพของตน ในที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่การบุกรุกที่ดินต่อไป เป็นวงจรของปัญหาที่ดินเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
- สาเหตุที่เกิดขึ้นจากนโยบายและมาตรการภาครัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐยังคงมีปัญหาและข้อจำกัดเนื่องจากการขาดความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั้งนี้ ลักษณะของสาเหตุที่เกิดขึ้นจากนโยบายและมาตรการภาครัฐสามารถพิจารณาได้ใน 2 ลักษณะ ดังนี้
ทิศทางและแนวโน้มในอนาคตของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
เมื่อพิจารณาทิศทางและแนวโน้มของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศภายหลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 และต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ส่งผลให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศมีทิศทางและแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าในช่วงอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมายและสถาบันดังกล่าวก่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่ององค์กรและสถานะทางกฎหมายมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ สคทช. เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ คทช. อีกทั้งนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่จัดทำขึ้นนั้นมีผลผูกพันในทางกฎหมายตามมาตรา 14 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐอื่นหรือคณะกรรมการตามกฎหมายอื่นดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทิศทางและแนวโน้มของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับทิศทางและแนวโน้มของปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขมากน้องเพียงใด ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญเนื่องจากจะส่งผลต่อทิศทางในการดำเนินนโยบายเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในภาพรวมให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากผลการศึกษาเบื้องต้นภายใต้โครงการการศึกษาการบูรณาการเพื่อยกระดับระบบ โครงสร้าง และกลไกการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ สามารถแสดงผลการวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทยในอนาคตได้ดังตารางด้านล่าง18
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การนำเสนอภาพรวมของสภาพปัญหาและข้อจำกัดในปัจจุบัน รวมถึงทิศทางและแนวโน้มในอนาคตของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทยข้างต้น จะช่วยให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจต่อสถานการณ์ด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนภารกิจที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต และภายหลังจากโครงการการศึกษาการบูรณาการเพื่อยกระดับระบบ โครงสร้าง และกลไกการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ: กรณีการยกระดับของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้เขียนจะได้นำข้อมูลและผลการศึกษาที่น่าสนใจมานำเสนอในรูปแบบของบทความเช่นนี้ให้ทุกท่านได้ติดตามกันต่อไป
1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
3 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
4 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2564, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 54 ก (27 สิงหาคม 2564).
5 นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141 ตอนพิเศษ 32 ง (10 กุมภาพันธ์ 2566).
6 เนื้อหาที่นำเสนอในบทความฉบับนี้ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ(พ.ศ. 2566 – 2580) และอีกส่วนหนึ่งผู้เขียนได้อาศัยข้อค้นพบเบื้องต้นจากการศึกษาภายใต้โครงการการศึกษาการบูรณาการเพื่อยกระดับระบบ โครงสร้าง และกลไกการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ: กรณีการยกระดับของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่ง สคทช. ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และดำเนินการศึกษาโดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษา และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567
7 นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580), หน้า 10 – 53.
8 นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580), หน้า 33.
9 นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580), หน้า 32.
10 นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580), หน้า 34 - 35.
11 อาทิตยา ทองพรหม. (2560). เอกสารสรุปรายงานสถานกาณ์ถือครองที่ดินและสาเหตุการสูญเสียที่ดินของเกษตรรายย่อยในประเทศไทย.
12 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร. (2565). รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร, หน้า 5.
13 นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580), หน้า 31.
14 แผนปฏิบัติราชการกรมพัฒนาที่ดินระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570, หน้า 24 – 26.
15 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มาตรา 12 บุคคลใดอ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใดอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ ให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายอำเภอแห่งท้องที่ภายในกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นใช้บังคับ ถ้าไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น
16 พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 4 “ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน
17 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2564). รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564.
18 สำหรับการนำเสนอทิศทางและแนวโน้มในอนาคตของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในตารางข้างต้น ผู้เขียนนำเสนอทิศทางและแนวโน้มของสภาพปัญหา รวมถึงทิศทางและแนวโน้มของสาเหตุของปัญหาในประเด็นที่มีความเกี่ยวเนื่องหรือเชื่อมโยงกันรวมไว้เป็นข้อเดียวกันเพื่อความกระชับ ทำให้การกล่าวถึงสภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาในเนื้อหาบทความกับในตารางมีจำนวนที่แตกต่างกันบ้าง