“วัด” ถือเป็นสถานที่ที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวพุทธ เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจใช้ประกอบงานพิธีกรรมต่างๆ ตามวัฒนธรรม ประเพณี การบวช การทำบุญในวาระต่างๆ ตลอดจนพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย วัดจึงอยู่คู่กับคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย ...

โดย นายชัชวาลย์ ชานุวัฒน์

นิติกรชำนาญการ
กองกฎหมาย กลุ่มงานคดี

กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อมูลวัดในประเทศไทย โดยปัจจุบันพบว่ามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 43,305 วัด โดยจังหวัดที่มีวัดมากที่สุดคือ จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวน 2,204 วัด1 ทั้งนี้ “วัด” ถือเป็นสถานที่ที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวพุทธ เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจใช้ประกอบงานพิธีกรรมต่างๆ ตามวัฒนธรรม ประเพณี การบวช การทำบุญในวาระต่างๆ ตลอดจนพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย วัดจึงอยู่คู่กับคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย2 แต่วัดก็มีปัญหาเรื่องที่ดินของจำนวนมากเช่นกัน ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ และไม่เป็นข่าว ไม่ว่าจะเป็นกรณีวัดที่ตั้งมาอายุมากกว่าร้อยปีแต่ยังไม่มีโฉนดที่ดิน วัดที่ตั้งอยู่ในเขตที่ราชพัสดุ ที่ดินสาธารณประโยชน์ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่า เขตปฏิรูปที่ดิน หรือพื้นที่นิคมสหกรณ์ โดยตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ วัดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้กำหนดให้วัดมี 2 ลักษณะ คือ (1) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และ (2) สำนักสงฆ์ วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล และให้เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป3 ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัดแบ่งเป็น 3 ประเภท4 ได้แก่

  1. ที่วัด คือ ที่ตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น เป็นที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดใดวัดหนึ่งโดยเฉพาะ
  2. ที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด แต่ไม่ใช่ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งวัด เช่น ที่ดินที่มีผู้อุทิศยกให้แก่วัด
  3. ที่กัลปนา คือ ที่ดินที่เจ้าของอุทิศเพียงผลประโยชน์จากที่ดินนั้นให้วัดหรือพระศาสนาเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินของวัด

ส่วนกรณีวัดร้างที่ไม่มีพระภิกษุอาศัย ในระหว่างที่ยังไม่มีการยุบเลิกวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะมีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาวัด ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และทรัพย์สินของวัดนั้น ส่วนวัดที่ถูกยุบเลิก ทรัพย์สินของวัดที่ถูกยุบเลิกจะตกเป็นศาสนสมบัติกลาง การสร้างวัดในที่ดินของรัฐจะต้องดำเนินการขออนุญาตใช้ที่ดินของรัฐต่อหน่วยงานที่ดูแลรักษาที่ดินนั้นๆ ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะสามารถดำเนินการสร้างวัดต่อไปได้ โดยจะรวบรวมหลักเกณฑ์ของการได้มาซึ่งที่ดินของวัดตามประมวลกฎหมายที่ดิน และกรณีที่วัดขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐในพื้นที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. การได้มาซึ่งที่ดินของวัด

ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 84 บัญญัติว่า

“การได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม ... ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี และให้ได้มาไม่เกิน 50 ไร่”

ในกรณีที่เป็นการสมควร รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินเกินจำนวนที่บัญญัติไว้ในวรรคแรกก็ได้

บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนการได้มาซึ่งที่ดินที่มีอยู่แล้วก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ ...

การขออนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินของวัด ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ในจำนวนไม่เกิน 50 ไร่ แต่ในกรณีที่เป็นการสมควร รัฐมนตรีจะอนุญาตในจำนวนเกิน 50 ไร่ก็ได้ ซึ่งจะไม่กระทบถึงการได้มาซึ่งที่ดินที่มีอยู่แล้วก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ กรมที่ดินจึงได้จัดทำคู่มือการขอได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอารามตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน5 ประกอบกับรวบรวมและปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการการได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินขึ้นใหม่เป็นระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2552 ออกตามความในมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งวัดที่จะมีสิทธิถือครองที่ดินได้จะต้องมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งการพิจารณาสภาพการเป็นนิติบุคคลของวัด ให้พิจารณาจากหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

  1. หนังสือรับรองสภาพวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (กรมการศาสนา)
  2. สำเนาประวัติวัด หรือสำเนาทะเบียนวัด ซึ่งรับรองโดยทางราชการ
  3. ประกาศตั้งวัดของกระทรวงศึกษาธิการ
  4. ประกาศตั้งวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นไปแนวทางเดียวกัน เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานด้วยความสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถูกต้อง และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

กรมที่ดินได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้กับ “วัดร้าง” รวมถึง “ที่ดินของวัด” พบว่า ในห้วงเดือนกรกฎาคม 2566 มีการออกโฉนดแล้ว 298 แปลง จากบัญชี “วัดร้าง” 2,759 แปลง ที่ได้สำรวจจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยนำมาจำแนกประเภทที่ดิน และส่งให้เจ้าหน้าที่เดินสำรวจดำเนินการออกเอกสารสิทธิต่อไป ส่วนการดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของวัด พบว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม - กรกฎาคม 2566 มี “วัด” ยื่นคำขอออกหนังสือแสดงสิทธิรวม 1,847 แปลง มีการออกโฉนดที่ดินให้วัดแล้ว 139 แปลง อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,708 แปลง ซึ่งในการประชุม “คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้ระดับจังหวัด” พิจารณาคําขอใช้ประโยชน์พื้นที่ของวัดในพื้นที่กรมป่าไม้ พบว่า มีวัดและที่พักสงฆ์อยู่ในเขตหวงห้ามไม่ได้เข้ารับการพัฒนาถึง 899 แห่ง และให้กรมป่าไม้พิจารณาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ และให้ “กรมที่ดิน” สนับสนุนช่างรังวัดในการรังวัด กรณีมีการยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อตั้งวัด/ที่พักสงฆ์/ศาสนสถาน

สำหรับ “การแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้” นั้น กรมป่าไม้ รายงานว่า มีที่พำนักสงฆ์ สำนักสงฆ์ ขออนุญาตจัดตั้งวัดในพื้นที่ ป่า/ถ้ำ จนถึงปี พ.ศ. 2565 จำนวน 8,529 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 บัญญัติว่า “ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน6 และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ระบุว่า มีวัดและสำนักสงฆ์ที่มีการยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อการสร้างวัดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ทั้งหมด 10,730 คำขอ และให้โครงการเพื่อสร้างศาสนสถานและสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา เป็นโครงการที่ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณค่าปลูกป่าชดเชย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 25657

2. กรณีวัดขออนุญาตใช้ที่ดินของรัฐ

การขออนุญาตใช้ที่ดินของทางราชการ มีหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. ผู้ยื่นรายงานขออนุญาตใช้ที่ดินของทางราชการเพื่อสร้างวัด ต้องเป็นผู้นำในพื้นที่และเป็นผู้ที่เคารพนับถือยกย่องของประชาชนในพื้นที่เท่านั้น
  2. ต้องให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ หน่วยงานผู้ดูแลพื้นที่ที่จะขอใช้สร้างวัดนั้น ผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับ
  3. พื้นที่ที่จะขออนุญาตใช้สร้างวัดนั้นต้องเป็นที่ดินที่ทางราชการสามารถจะดำเนินการอนุญาตให้ใช้สร้างวัดได้เท่านั้น
  4. ที่ดินที่จะขอสร้างวัดนั้นต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 6 ไร่ และเหมาะสมกับการเป็นที่อยู่อาศัยของสมณเพศ
  5. มีบ้านเรือนประชาชนตั้งอาศัยอยู่เป็นหลักมั่นคงอยู่โดยรอบ และเชื่อได้ว่าจะสามารถบำรุงส่งเสริมวัดที่จะสร้างได้และต้องตั้งอยู่ห่างจากวัดอื่นไม่น้อยกว่า 2 กิโลเมตร8

2.1 กรณีขออนุญาตใช้ที่ดินในพื้นที่ป่า

การยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อการสร้างวัดจะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ซึ่งวัดหรือสำนักสงฆ์ที่ยื่นขออนุญาตจะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้ระดับจังหวัดที่มีมติให้ขออนุญาตสร้างวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย แบ่งเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่

2.1.1 เขตป่าสงวนแห่งชาติ

การขออนุญาตเพื่อสร้างศาสนสถานทางศาสนาพุทธ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยื่นคำขออนุญาตตามระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งออกตามความในมาตรา 13/8 (3) และมาตรา 16 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ข้อ 6 การขออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม (2) เพื่อสร้างศาสนสถาน ข้อ 7 วรรคเจ็ด และหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตต้องเป็นไปตาม หมวด 2 และหมวด 3

2.1.2 ป่า ตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484

การขออนุญาตสร้างวัดตามกฎหมายคณะสงฆ์ ต้องยื่นผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ลงนามในคำขออนุญาต โดยให้ยื่นขออนุญาตตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 54 วรรคสอง และมาตรา 58 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ข้อ 5 (8) เพื่อสร้างศาสนสถาน และข้อ 6 และหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตต้องเป็นไปตามหมวด 2 และหมวด 3

2.2 กรณีขออนุญาตใช้ที่ดินในที่ราชพัสดุ

การขออนุญาตใช้ที่ราชพัสดุสำหรับการสร้างวัดหรือใช้ประโยชน์ในกิจการทางศาสนา ให้ผู้ยื่นรายงานขอใช้ที่ดินของทางราชการเพื่อสร้างวัด เสนอรายงานฯ ต่อเจ้าหน้าที่ปกครองบ้านเมืองและผู้ปกครองสงฆ์ให้ความเห็นและลงนาม แล้วให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดยื่นขออนุญาตตามข้อ 3 และข้อ 4 ของกฎกระทรวงการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 19 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 โดยยื่นต่อกรมธนารักษ์ในกรณีที่ราชพัสดุตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ หรือสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ซึ่งที่ราชพัสดุตั้งอยู่พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทำบันทึกข้อตกลงและรับหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินแล้วแจ้งให้ผู้ยื่นรายงานทำบันทึกข้อตกลงและให้ดำเนินการขออนุญาตสร้างวัดหรือตั้งวัดต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต่อไป

2.3 กรณีขออนุญาตใช้ที่ดินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน

การพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการศาสนานั้น คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ได้กำหนดให้ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พิจารณาอนุญาตการใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2536 (ระเบียบสาธารณูโภค ) ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 (3) (6) และ (12) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยข้อ 5 และข้อ 8 กำหนดให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ดำเนินการโดยไม่หวังผลกำไร ซึ่งในทางปฏิบัติงาน ได้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนา หรือวัด (ที่เป็นนิติบุคคล) สามารถขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อการศาสนาสำหรับจัดตั้งศาสนสถานตามประเพณีแห่งท้องถิ่นได้จำนวนเนื้อที่ไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งเป็นอำนาจการอนุญาตของเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส่วนกรณีจำนวนเนื้อที่เกินกว่า 15 ไร่ และการขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อกิจการอื่น ๆ ตามระเบียบข้อ 17 เป็นอำนาจการพิจารณาของ คปก. ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดต้องให้ความเห็นชอบก่อนเสนอสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณา ตามข้อ 4 ของฉบับเดียวกัน9

2.4 กรณีขออนุญาตใช้ที่ดินในพื้นที่นิคมสหกรณ์

ในกรณีที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ นิติบุคคล หรือบุคคลใดประสงค์จะ ขออนุญาตสร้างวัด สำนักสงฆ์หรือสถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาภายในพื้นที่นิคมสหกรณ์ ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และผู้ยื่นคำขออนุญาตต้องมิใช่พระสงฆ์ และต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย จึงจะสามารถยื่นคำขอตามระเบียบกรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่าด้วยการบริหารจัดการนิคมสหกรณ์ พ.ศ. 2562 ข้อ 32 โดยให้ยื่นคำขอต่อผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบนี้และรายงานสหกรณ์จังหวัดเพื่อนำเสนออธิบดีเพื่อพิจารณาคำขออนุญาตและต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี อาชีพการเกษตร และอื่น ๆ

2.5 กรณีขออนุญาตใช้ที่ดินในที่ดินสาธารณประโยชน์

การใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อตั้งวัดหรือสร้างวัดและมีการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีสภาพเป็นถาวรวัตถุเพื่อใช้ประกอบศาสนกิจ มิใช่เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ราชการไม่อาจดำเนินการถอนสภาพที่ดินตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ ดังนั้น การจะขอตั้งวัดหรือสร้างวัดในที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

การขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2543 พนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นการชั่วคราว กำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต โดยผู้ขออนุญาตต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่รัฐตามมาตรา 9/1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่ได้รับอนุญาตจะยังคงมีสถานะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอยู่และการอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นการชั่วคราว ลักษณะของการใช้ประโยชน์ในที่ดินจะต้องเป็นการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะไม่มั่นคงถาวรซึ่งอาจรื้อถอนได้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาต กรณีการสร้างวัดนั้นเป็นการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างถาวร จึงไม่สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้เช่นกัน10

2.6 กรณีขออนุญาตใช้ที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มิได้กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาต และการอนุญาตใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งการขออนุญาตใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติตั้งสำนักสงฆ์ และที่พักสงฆ์นั้น จะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2538 เพื่อจัดตั้งภายใต้โครงการพุทธอุทยานซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการส่งเสริมให้วัด สำนักสงฆ์ ที่พักสงฆ์ ช่วยงานด้านป่าไม้ ตามแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้11 โดยหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ ในการร่วมดำเนินโครงการพุทธอุทยานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ระหว่างพระสงฆ์กับพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น เป็นการป้องกันมิให้นำพื้นที่โครงการที่ได้รับอนุญาตไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และการดำเนินโครงการมิใช่การอนุญาตให้สร้างวัดในพื้นที่ป่าไม้ หรือมอบพื้นที่ให้ที่พักสงฆ์ดูแลรับผิดชอบโดยตรง แต่พระสงฆ์จะต้องดำเนินโครงการร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่

จะเห็นได้ว่า ปัญหาเรื่องการใช้ที่ดินของวัด ถึงแม้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อมีการขออนุญาต ใช้พื้นที่อย่างถูกต้องไม่ว่าจะตามกฎหมายของพื้นที่นั้น ๆ เมื่อได้รับการอนุญาตและมีหลักฐานแล้ว ก็สามารถลดปัญหาระหว่างวัดกับหน่วยงานของรัฐได้มาก ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความเหมาะสม เพื่อให้การใช้ประโยชน์ของวัดในที่ดินของรัฐเป็นไป โดยชอบด้วยกฎหมายและเกิดประโยชน์สูงสุด

เพราะ “วัด” คือ ศูนย์ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย


1 สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สถิติบุคลากรและศาสนสถานทางศาสนาในประเทศไทย. เข้าถึงเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566 จาก https://ittdashboard.nso.go.th/preview.php?id_project=56.

2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2560). วัดที่คนไทยอยากเห็น. เข้าถึงเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.thaihealth.or.th/?p=240548.

3 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79 ตอนที่ 114 ฉบับพิเศษ (31 ธันวาคม 2505), มาตรา 31 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535.

4 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79 ตอนที่ 114 ฉบับพิเศษ (31 ธันวาคม 2505), มาตรา 33

5 หนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0515/ว 24645 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2548 เรื่อง การขอได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

6 ผู้จัดการออนไลน์. (2566). สนองนโยบาย “มหาเก่ง” เร่งออกโฉนดที่ดิน “วัดร้าง” 2,759 แปลง ทด. แจ้ง “มหาดไทย” ปีนี้ออกโฉนดแล้ว 298 แปลง ใน 43 จังหวัด. เข้าถึงเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566 จาก https://mgronline.com/politics/detail/9660000067993.

7 เชียงใหม่นิวส์. (2565). จัดระเบียบใช้พื้นที่ป่า พบมี 10,730 คำขอยื่นสร้างวัดและสำนักสงฆ์. เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.chiangmainews.co.th/news/2733736/.

8 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. (2565). รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การจัดตั้งและแก้ไขปัญหาศาสนสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของทางราชการ, หน้า 68. เข้าถึงเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2566 จาก https://shorturl.asia/N2cVi.

9 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม. (2562). คู่มือการปฏิบัติงานการขอใช้ที่ดินของวัดหรือสำนักสงฆ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน กรณีเนื้อที่เกินกว่า 15 ไร่. เข้าถึงเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566 จาก https://alro.go.th/uploads/org/legal_aff/download/ article/article_20191120145818.pdf.

10 หนังสือกรมที่ดิน ด่วนที่สุด ที่ มท 0511.3/26926 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2565 เรื่อง การขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อสร้างวัด ตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

11 รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การจัดตั้งและแก้ไขปัญหาศาสนสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของทางราชการ, หน้า 53.


epetitions

complaint

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow
Slide