หลักการพิจารณาพยานหลักฐานตามมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ (กรณีราษฎรใช้หลักฐานใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม)) ...
โดย นางยุพา คำมา
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ
กองที่ดินของรัฐ กลุ่มงานประสานการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ 2
การพิจารณาพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎรในเขตที่ดินของรัฐของคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) ตามมาตรการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดิน ของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ข้อ 1.1 กล่าวคือ “เอกสารที่ทางราชการทำขึ้นและพิสูจน์ได้ว่าเป็นเอกสารซึ่งลงวันที่ก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ” เช่น ใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม) ระวางเดินสำรวจ ร.ศ. (ระวางศูนย์กำเนิดรัตนโกสินทร์ศก) หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินที่ทำขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอ เป็นต้น
ใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม) คือ บันทึกการสอบสวนที่ดินก่อนออกโฉนดที่ดิน ตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ซึ่งใช้บังคับก่อนการใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 โดยมีข้อความระบุตำแหน่งที่ดิน ตำบล อำเภอ ชื่อเจ้าของที่ดิน จำนวนเนื้อที่ ชื่อเจ้าของที่ดินทั้ง 4 ทิศ การได้ที่ดินว่าได้มาอย่างไร เมื่อใด มีหลักฐานใด ซึ่งใบไต่สวนเดิมเป็นพยานเอกสารที่แสดงว่า ผู้มีชื่อในใบไต่สวนนำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงนั้น ๆ แล้ว ใบไต่สวนเดิมมิใช่เอกสารสิทธิ แต่เป็นพยานเอกสารที่แสดงเจตนาถือครองที่ดิน จะออกให้ต่อเมื่อบุคคลมานำรังวัดโฉนดที่ดิน ทั้งนี้ ใบไต่สวนเดิมกรมที่ดินโดยสำนักงานที่ดินจังหวัดเป็นผู้จัดทำ ซึ่งจะออกให้กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเจ้าของที่ดินเพื่อที่จะให้ได้หลักฐานว่า ผู้มีชื่อในใบไต่สวนนั้นเป็นเจ้าของที่ดินจริง สมควรที่จะได้รับโฉนดที่ดินไปเป็นกรรมสิทธิ์ต่อไป
หลักฐานใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม) ซึ่งราษฎรใช้เป็นหลักฐานประกอบคำขอออกโฉนดที่ดินในเขตที่ดินของรัฐ คพร.จังหวัด หลายแห่ง ได้มีการพิจารณาหลักฐานดังกล่าวเพื่อประกอบการพิสูจน์สิทธิฯ ให้แก่ราษฎรจำนวนหลายราย เนื่องจากใบไต่สวนเดิมเป็นเอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้น จึงเป็นพยานที่มีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือ เมื่อ คพร.จังหวัด พิจารณาแล้วเห็นว่า ใบไต่สวนเดิมมีส่วนสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่า มีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ คพร.จังหวัด จักต้องแจ้งผลการพิสูจน์สิทธิฯ ดังกล่าวให้ราษฎรที่ขอออกโฉนดที่ดินทราบภายในกำหนด 30 วันทำการ และให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินของรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- กรณีหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเห็นด้วยกับมติของ คพร.จังหวัด ให้แจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่อไป
- กรณีที่หน่วยงานของรัฐดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับมติ คพร.จังหวัด ให้พิจารณาดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ตัวอย่าง
คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัดนครสวรรค์ (คพร.จังหวัดนครสวรรค์) ได้พิจารณากรณีราษฎรขอออกโฉนดที่ดินในที่ราชพัสดุตามเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินอำเภอปากน้ำโพ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ พุทธศักราช 2479 รายนางสาว ก. โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
- นางสาว ก. ขอออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยหลักฐานใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม) เล่ม 60ง น่า 330 เลขที่ 60 ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ออกให้แก่ นายแดง-นางดำ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2470 ระบุการได้ที่ดินมาว่า บิดามารดายกให้ประมาณ 10 ปี (ประมาณปี พ.ศ. 2460) จำนวนเนื้อที่ 1-1-65 ไร่
- เดิมที่ดินแปลงพิพาทเป็นของนายแดง-นางดำ ซึ่งเคยนำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั้งตำบลไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2470 ตามหลักฐานใบไต่สวนเล่ม 60ง น่า 330 เลขที่ 60 แต่มิได้รับโฉนดที่ดินภายใน 10 ปี ต่อมาปี พ.ศ. 2490 นายแดงเสียชีวิต และเมื่อปี พ.ศ. 2498 นางดำได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ในนามตนเอง เลขที่ 6 ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ระบุการได้มาว่าบิดามารดายกให้เมื่อประมาณ 38 ปี (ประมาณปี พ.ศ. 2460) ต่อมานางดำเสียชีวิต นางสาว ก. เข้ารับมรดก
- ช่างรังวัดของสำนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาพยุหะคีรี ได้ตรวจสอบตำแหน่งรูปแปลงที่ดินที่ขอออกโฉนดกับระวางศูนย์กำเนิดเดิม ปรากฏว่าอยู่ใบไต่สวนเดิม เล่ม 60ง น่า 330 เลขที่ 60 ทั้งแปลง
คพร.จังหวัดนครสวรรค์ พิจารณาเอกสารหลักฐานแล้วเห็นว่า ราษฎรรายดังกล่าวขอออกโฉนดที่ดินโดยมีใบไต่สวนเดิม ที่ออกเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2470 ซึ่งเป็นเอกสารที่ทางราชการทำขึ้นและพิสูจน์ได้ว่าเป็นเอกสารซึ่งลงวันที่ก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ (ปี พ.ศ. 2479) ตามมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ข้อ 1.1 จึงมีมติน่าเชื่อว่า ที่ดินแปลงพิพาทครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ และได้แจ้งผลการพิสูจน์สิทธิฯ ดังกล่าว ให้บุคคลที่ครอบครองที่ดินทราบภายในกำหนด 30 วันทำการ พร้อมทั้งแจ้งให้กรมธนารักษ์ ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ราชพัสดุดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการพิสูจน์สิทธิฯ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท หรือข้อโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างราษฎรและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา คุ้มครอง ป้องกัน หรือใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ด้วยวิธีการพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ยุติว่าราษฎรได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทมาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ ซึ่งตามมาตรการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ข้อ 1.1 กรณีราษฎรใช้หลักฐานใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม) เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานนั้นมีส่วนสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่ามีการครอบครอง ทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ คพร.จังหวัด จักต้องแจ้งผลการพิสูจน์สิทธิฯ ดังกล่าวให้บุคคลที่ครอบครองที่ดินทราบภายในกำหนด 30 วันทำการ และให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินของรัฐดำเนินการต่อไป โดยมิต้องส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ พิจารณารับดำเนินการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศเพื่อหาร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2565). คู่มือการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ (ฉบับประชาชน). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจา- นุเบกษา.