การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ...
โดย นายเกียรติพิบูล แสงสี
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ
กองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการจัดการที่ดิน
กลุ่มงานขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 อนุมัติหลักการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวม โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติกำหนด ในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม1 โดยการขับเคลื่อนนโยบายและแก้ไขปัญหาการจัดที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินของประเทศ มีกระบวนการดำเนินงานสำคัญ ประกอบด้วย (1) การกำหนดพื้นที่ในการจัดที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ยากไร้ในลักษณะแปลงรวม ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน (2) การจัดคนเข้าอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ของ คทช. ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน และ (3) การขับเคลื่อนการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การส่งเสริมอาชีพและการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ผลการจัดที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – 2566 มีพื้นที่เป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,582 พื้นที่ จำนวน 71 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 5,888,734 – 3 – 80.31 ไร่ คาดว่าราษฎรที่จะได้รับการจัดที่ดินมีประมาณ 500,000 ราย ภายหลังการอนุญาตและจัดประชาชนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมอาชีพและการตลาด ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – 2566 ดำเนินการแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 293 พื้นที่ ใน 65 จังหวัด ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 6 ด้าน ประกอบด้วย (1) ด้านการพัฒนาที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นฐานข้อมูล Zoning (2) ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน (3) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ การจัดทำเมนูอาชีพบูรณาการ (4) ด้านการส่งเสริมการรวมกลุ่ม (5) ด้านการสนับสนุนเข้าถึงแหล่งทุน และ (6) ด้านการส่งเสริมและจัดทำบัญชีครัวเรือน ทั้งนี้ การพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่มีความหลากหลายของโครงสร้างพื้นฐาน อาทิเช่น การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอยู่อาศัย การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การสร้างเส้นทางคมนาคมภายในพื้นที่และเชื่อมต่อกับเส้นทางคมนาคมภายนอก และการพัฒนาระบบไฟฟ้า เป็นต้น
ดังนั้น สคทช. จึงมีการเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยได้ดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 21 หน่วยงาน แบ่งเป็น (1) หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และ (2) หน่วยงานร่วมพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมพัฒนาชุมชน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค กรมทางหลวงชนบท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ในการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย สนับสนุนข้อมูลบูรณาการ วางแผน พัฒนาพื้นที่ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ คทช. โดยเชื่อมั่นว่าหากพื้นที่ คทช. ได้รับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ให้สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน แหล่งน้ำ การชลประทาน ระบบไฟฟ้า เส้นทางคมนาคม รวมถึงโครงสร้างขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ตามนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่ได้รับการจัดที่ดินมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีรายได้ที่มั่นคง
นอกจากนี้ เพื่อให้การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. สามารถดำเนินการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั่วประเทศ สคทช. จึงร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดจัดประชุมหารือขับเคลื่อนการดำเนินงานการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 25662 เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด จำนวน 2 ชุด เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อน ได้แก่
- คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. เพื่อร่วมกันจัดทำแผนและงบประมาณพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ รวมทั้งติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะอนุกรรมการ ส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดรับทราบ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานคณะทำงาน และผู้แทนหน่วยงาน จำนวน 24 หน่วยงาน เป็นคณะทำงาน
- คณะทำงานขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ในพื้นที่ คทช. เพื่อจัดทำแผนและงบประมาณในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด และดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ รวมทั้งติดตามประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดทราบ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงาน และผู้แทนหน่วยงาน จำนวน 21 หน่วยงาน เป็นคณะทำงาน
แนวทางการพัฒนาระบบสาธารณูโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. มีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้
- สคทช. ประสานขอข้อมูลเกี่ยวกับสภาพพื้นที่แปลง คทช. ที่ได้รับการจัดสรรและอนุญาตให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยเป็นรายจังหวัด และข้อมูลผลการสำรวจความต้องการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) เพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช.
- สคทช. และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) ร่วมกับหน่วยงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ทั้ง 21 หน่วยงาน ดำเนินการประชุมวางแผน และติดตามการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ คทช.
- สคทช. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการประชุมเพี่อกำหนดแนวทางการจัดทำแผนและงบประมาณการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. โดยเชิญคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) และหน่วยงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ทั้ง 21 หน่วยงาน เพื่อกำหนดรายละเอียดโครงการและกิจกรรมการจัดทำแผนและงบประมาณเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ พื้นที่ คทช. ที่ได้รับความเห็นชอบจาก คทช.จังหวัด เรียบร้อยแล้ว สามารถดำเนินการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ คทช. ได้ทันทีเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ให้ดำเนินโครงการพัฒนา โดยใช้งบประมาณจากหน่วยงานภายในจังหวัดดำเนินการ ซึ่งตัวอย่างรายละเอียดโครงการจัดตั้งงบประมาณภายใต้แผนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. อาทิเช่น (1) การก่อสร้างหรือปรับปรุงถนนภายในพื้นที่ คทช. (2) การก่อสร้างที่อยู่อาศัย (3) ระบบไฟฟ้าภายในพื้นที่ คทช. (4) ระบบประปา (5) การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและระบบการกระจายน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น เพื่อให้รับทราบแนวทางการจัดทำแผนและงบประมาณการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นตามรูปแบบที่กำหนด
- สคทช. ติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. เพื่อรายงานผลการดำเนินงานตามขั้นตอนต่อไป
ประชาชนที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ คทช. ได้รับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นจากหน่วยงานภาครัฐตามแนวทางการพัฒนาระบบสาธารณูโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ทำให้สามารถเข้าถึงการบริการระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐจัดสรรให้เกิดการพัฒนาส่งเสริมอาชีพ และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์/ กลุ่มสถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าลงได้ โดยประชาชนร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ตามเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ต้องไม่มีการเผา มีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ เป็นต้น
1สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 5, หน้า 19.
2รายงานการประชุมหารือขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดรวมทั้งการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566, หน้า 8 - 20.