โดย ว่าที่ ร.ต. พีรพล มั่นจิตต์1
นายมูฮัมหมาด ยังหะสัน2
นายภาคภูมิ บัวตูม3
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน ในบทความนี้จะขอพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เนื่องจากปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินของรัฐบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับพื้นที่ของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว และปัญหาการทับซ้อนแนวเขตที่ดินของรัฐด้วยกันเอง มีมานานกว่า 50 ปี ซึ่งช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นลำดับ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้เป็นที่ยุติและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้แต่อย่างใด โดยในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาท่านผู้อ่านทุกท่านมาทำความเข้าใจที่มาของปัญหาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในแต่ละช่วงที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 25624 ภายใต้การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map)
ข้อมูลเบื้องต้น/ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน
เมื่อปี พ.ศ. 2506 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 กำหนดให้ป่าภูเขาหลวง/ป่าวังน้ำเขียว/ป่าแก่งดินสอ/ป่าแก่งใหญ่/ป่าเขาสะโตน/ป่าครบุรี เป็นป่าไม้ถาวร และได้มีการประกาศกฎกระทรวงปี พ.ศ. 2509 - 2516 ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กำหนดให้ทั้ง 4 ป่า เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่กิ่งอำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 25185 และในปี พ.ศ. 2521 ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย และอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 25216 และในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2520 - 2523 มีนโยบายจากรัฐบาลในขณะนั้นให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กรมป่าไม้ ส.ป.ก. และหน่วยงานด้านความมั่นคง สำรวจรังวัดป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว และดำเนินโครงการพัฒนาในเขต ส.ป.ก. และโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง พร้อมจัดตั้งเป็นหมู่บ้านไทยสามัคคี กระทั่งต่อมาปี พ.ศ. 2524 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียว และป่าครบุรี ในท้องที่ตำบลสะแกราช ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย ตำบลครบุรี ตำบลจระเข้หิน ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี และตำบลสระตะเคียน ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน7 โดยได้กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานไว้ในแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม เส้นแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวยังมีความบกพร่องและคลาดเคลื่อน เนื่องจากไม่ได้มีการเข้าสำรวจรังวัดพื้นที่จริง ส่งผลให้การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ทับซ้อนกับที่ดินทำกินของราษฎรที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม ทำให้พื้นที่ “บ้านไทยสามัคคี” อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซ้ำยังทับซ้อนกับแนวเขตปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. ด้วย8
แนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐทับซ้อนบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน
ในบทความนี้ ผู้เขียนได้แบ่งเนื้อหาเพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐทับซ้อนบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ออกเป็น 2 ช่วงเวลาที่สำคัญ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจได้ง่ายและชัดเจน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ช่วงที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2525 – 2562
ในช่วงปี พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2525 อนุมัติให้กองทัพภาคที่ 2 ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (พมพ.) โดยบางส่วนอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี และอุทยานแห่งชาติทับลาน และในปี พ.ศ. 2528 ได้มีการประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,145 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 25079 ให้เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียวเดิม และประกาศกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติวังน้ำเขียวใหม่ เนื่องจากได้ส่งมอบพื้นที่ป่าบางส่วนให้ ส.ป.ก. ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และบางส่วนยังถูกนำไปประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 253110 และในปี พ.ศ. 2533 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล (พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ) ดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) และในปี พ.ศ. 2535 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 และ 17 มีนาคม 2535 โดยจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติ ออกเป็น 3 โซน ซึ่งการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐมีปัญหาทับซ้อนกับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และในช่วงปี พ.ศ. 2541 หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ได้พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยการสำรวจรังวัด จัดทำแผนที่ และฝังหลักแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้ถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริง จนกระทั่งเกิดเป็นเส้นแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ซึ่งพบว่ามีพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนซึ่งต้องกันออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เนื้อที่ประมาณ 270,000 ไร่ และมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้สมบูรณ์ สามารถผนวกกลับเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาในช่วงนี้ยังไม่เกิดผลชัดเจน เพราะยังไม่มีการบังคับใช้ในทางกฎหมายเนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2545 นั้น มีการปฏิรูประบบราชการและจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขึ้นใหม่ จึงยังไม่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้แล้วเสร็จ ตามแนวทางการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน พ.ศ. 2543 แต่อย่างใด จนกระทั่งต่อมาในปี พ.ศ. 2561 - 2562 ประชาชนได้ร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในกรณีที่พื้นที่ปฏิรูปที่ดินทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติทับลาน ป่าวังน้ำเขียวแปลง 1 และแปลง 2 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับที่ดินทำกินของราษฎรที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม และพื้นที่ทับซ้อนโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (พมพ.) และโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.)
ช่วงที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ขึ้น เพื่อมาบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยในมาตรา 10 (7)11 คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีหน้าที่และอำนาจเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ และมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ ซึ่ง คทช. ในการประชุม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน
ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตามหน้าที่และอำนาจให้ถูกต้อง รอบคอบเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ระหว่างวันที่ 14 - 15 พฤษภาคม 2566 สคทช. กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ผู้แทนท้องที่ ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 เพื่อตรวจสอบพื้นที่เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี พ.ศ. 2543 ในบริเวณของจุดที่ไม่ชัดเจน ทั้งหมด 58 บริเวณ ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566
ต่อมา สคทช. ได้นำผลการตรวจสอบพื้นที่จุดที่ไม่ชัดเจนเสนอคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ ในการประชุม ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบผลดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำเรื่องเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 โดยให้ส่วนราชการดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
จากที่กล่าวมาทั้งหมด คงจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจที่มาของปัญหาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในแต่ละช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาภายใต้โครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) มากขึ้น
อ้างอิง
1 ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
2 ผู้อำนวยการกองที่ดินของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
3 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กลุ่มงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One Map) กองที่ดินของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
4 พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 49 ก (14 เมษายน 2562).
5 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่กิ่งอำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 267 ฉบับพิเศษ (31 ธันวาคม 2518).
6 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย และอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2521, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 107 ฉบับพิเศษ (2 ตุลาคม 2521).
7 พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียว และป่าครบุรี ในท้องที่ตำบลสะแกราช ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย ตำบลครบุรี ตำบลจระเข้หิน ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี และตำบลสระตะเคียน ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 210 ฉบับพิเศษ (23 ธันวาคม 2524).
8 กรุงเทพธุรกิจ. (2567). เปิดมติ ครม.ต้นเหตุ เพิกถอนพื้นที่อุทยานทับลาน 2.6 แสนไร่. เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2567 จาก https://www.bangkokbiznews.com/environment/1135014.
9 กฎกระทรวง ฉบับที่ 1,145 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 102 ตอนที่ 199 (30 ธันวาคม 2528).
10 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2531, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 131 (9 สิงหาคม 2531).
11 พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 49 ก (14 เมษายน 2562).