โครงสร้างและการจัดองค์กร

กฎกระทรวง

แบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

สำนักนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2564

ข้อ 1   ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ มีภารกิจในการเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินของรัฐ รวมทั้งการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยให้มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
  (1) รับผิดชอบในการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
  (2) เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
  (3) เสนอให้มีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
  (4) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการใช้ที่ดินของประเทศให้เป็นไปตามนโยบาย และแผน การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ กฎ ระเบียบ และมาตรการที่เกี่ยวข้อง
  (5) เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม
  (6) เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการหรือแนวทางเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
  (7) เสนอให้มีการตรา แก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน รวมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตามกฎหมายอื่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกัน
  (8) เสนอให้มีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ และมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ
  (9) ติดตาม ประสานงาน สนับสนุน หรือเร่งรัดการดำเนินงานของคณะกรรมการตามกฎหมายอื่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
  (10)  เชื่อมต่อระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศ พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ รวบรวม จัดเก็บ วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
  (11)  เสนอรายงานผลการดำเนินงานและการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
  (12)  ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงานหรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
  ข้อ 2   ให้แบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
  (1) สำนักงานผู้อำนวยการ
  (2) กองกฎหมาย
  (3) กองที่ดินของรัฐ
  (4) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
  (5) กองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน
  (6) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน
  ข้อ 3   ในสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้มีกลุ่มตรวจสอบภายใน เพื่อทำหน้าที่หลักในการตรวจสอบการดำเนินงานภายในสำนักงาน และสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงาน รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการ โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
  (1) ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบด้านการบริหาร การเงิน และการบัญชีของสำนักงาน
  (2) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
  ข้อ 4   ในสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้มีกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร เพื่อทำหน้าที่หลักในการพัฒนาการบริหารของสำนักงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการ โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
  (1) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่ผู้อำนวยการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการภายในสำนักงาน
  (2) ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการภายในสำนักงาน
  (3) ประสานและดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการร่วมกับหน่วยงานกลางต่าง ๆ และหน่วยงานภายในสำนักงาน
  (4) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
  ข้อ 5   ในสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้มีศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต เพื่อทำหน้าที่หลักในการบูรณาการและขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรมในสำนักงาน รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการ โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
  (1) เสนอแนะต่อผู้อำนวยการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสำนักงาน รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปรามปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเสนอต่อผู้อำนวยการ
  (2) ประสานงาน เร่งรัด และกำกับให้ส่วนราชการในสำนักงานดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการ
  (3) รับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน และส่งต่อไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  (4) คุ้มครองจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการพลเรือน
  (5) ประสานงาน เร่งรัด และติดตามเกี่ยวกับการดำเนินการตาม (3) และ (4) และร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  (6) ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสำนักงาน และคุ้มครองจริยธรรม เสนอต่อผู้อำนวยการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  (7) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
ข้อ 6   สำนักงานผู้อำนวยการ มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการทั่วไปของสำนักงาน และราชการอื่นที่มิได้แยกให้เป็นหน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะ หน้าที่และอำนาจดังกล่าวให้รวมถึง
  (1) ดำเนินการเกี่ยวกับงานบริหารทั่วไป งานสารบรรณ งานช่วยอำนวยการและประสานราชการของสำนักงาน
  (2) จัดทำและประสานแผนปฏิบัติการของสำนักงาน รวมทั้งเร่งรัด ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนการปฏิบัติราชการของสำนักงาน
  (3) ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดระบบงานและการบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน
  (4) ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี การงบประมาณ การพัสดุ อาคารสถานที่ และยานพาหนะของสำนักงาน
  (5) ดำเนินการเกี่ยวกับงานวิเทศสัมพันธ์ของสำนักงาน
  (6) ดำเนินการเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงาน ผลการปฏิบัติงาน และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของสำนักงาน
  (7) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
ข้อ 7   กองกฎหมาย มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
  (1) ดำเนินการด้านกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงานและตามที่ได้รับมอบหมาย
  (2) ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยเพื่อเสนอให้มีการตรา ปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
  (3) เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา กรณีหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตามกฎหมายอื่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกัน
  (4) เสนอความเห็นแก่หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการจัดที่ดินของรัฐให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติกำหนด
  (5) ให้คำปรึกษาและเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
  (6) พิจารณาข้อร้องเรียนและปัญหาเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดิน และดำเนินการตรวจสอบพร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  (7) ดำเนินการเกี่ยวกับงานนิติกรรมและสัญญา งานเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่ง อาญา งานคดีปกครอง และงานคดีอื่นที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน
  (8) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
ข้อ 8   กองที่ดินของรัฐ มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้/td>
  (1) ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ และดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ
  (2) ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐและมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานของรัฐในการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ
  (3) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
ข้อ 9   กองยุทธศาสตร์และแผนงาน มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
  (1) ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ มาตรการหรือแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในภาพรวมของประเทศ
  (2) ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และรูปแบบการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์หรือรูปแบบในลักษณะอื่น
  (3) ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
  (4) วิเคราะห์และพัฒนาเกณฑ์หรือดัชนีชี้วัดผลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในมิติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืน
  (5) ปฏิบัติงานในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
  (6) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
ข้อ 10   กองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
  (1) เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
  (2) เสนอแนะมาตรการในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
  (3) ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน รวมถึงการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ
  (4) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพที่ดินและศักยภาพที่ดิน
  (5) ติดตาม ประสานงาน สนับสนุน หรือเร่งรัดการดำเนินงานของคณะกรรมการตามกฎหมายอื่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
  (6) ขับเคลื่อนนโยบายและแก้ไขปัญหาการจัดที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด
  (7) เสนอรายงานผลการดำเนินงานและประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
  (8) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
ข้อ 11   ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
  (1) เชื่อมต่อและบริหารจัดการระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ รวมทั้งพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์และเครือข่าย
  (2) ศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาโปรแกรมประยุกต์เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
  (3) เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านที่ดินและทรัพยากรดิน รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูล บูรณาการฐานข้อมูล จัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
  (4) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงาน
  (5) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
   
ให้ไว้ ณ วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
           
หมายเหตุ :                                เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแบ่งส่วนราชการ ภายในสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นไปตามการจัดส่วนราชการภายในสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2564 และกำหนดหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพของงาน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้